สูงวัยไทยป่วย “ความดันโลหิตสูง” เพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่วยเป็นภาวะความดันโลหิตสูง และภายในปี 2568 คาดว่า ความชุกของภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นถึง 1.56 พันล้านคนทั่วโลก โดยในสัดส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่า 1.6 ล้านคน จากผู้สูงอายุทั้งหมด 10 ล้านคน ภาวะความดันโลหิตสูง คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมากทุกปี และปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย ตั้งแต่สภาพแวดล้อม พฤติกรรมส่วนตัว เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด นอกจากนี้การทำงานอยู่ภายใต้ความเครียดตลอดเวลา การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การขาดการออกกำลังกาย ยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
ความดันโลหิตสูงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย หากไม่ได้ตรวจวัดความดันโลหิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการมักจะพบแพทย์ด้วยภาวะวิงเวียนศีรษะ มีเลือดกำเดาไหล แน่นหน้าอก หอบหายใจเร็ว มือเท้าชา หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ จะส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญต่างๆของร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ หลอดเลือด ตา และไต โดยอาการที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ มีดังนี้
- สมอง ความดันโลหิตสูง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก มีเลือดออกในเนื้อสมอง ส่งผลให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต หากพบอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบมาโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เลือดออกในสมองรุนแรงได้
- หัวใจ ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง คือ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจ หนาตัวและแข็งตัวขึ้น เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้จากหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น และอาจเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าวควรนั่งพัก 3-5 นาที หากอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ทันที
- หลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกิดการฉีกขาด เจ็บหน้าอกร้าวไปยังหลังอย่างรุนแรง หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้
- ตา ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอประสาทตา หลอดเลือดเล็กที่จอประสาทตาอุดตัน หรือจอประสาทตาหลุดลอกออกได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ หรืออาจมีอาการตามัว จนถึงตาบอดได้
- ไต ความดันโลหิตสูง มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ไตเสื่อมสมรรถภาพและอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง อาการของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ขาบวมตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงในผู้ป่วยไตวายระยะท้ายๆ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากละเลยการรักษาความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ฉะนั้นจึงควรได้รับการรักษาและแนะนำอย่างถูกต้อง เมื่อพบภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมหรือป้องกันให้อยู่ภาวะปกติได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการกินยาลดความดันโลหิตสูง อาหารที่มีผลต่อความดันโลหิต เช่น อาหารประเภทที่มีโซเดียมสูง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง จึงควรลดการรับประทานอาหารผ่านกระบวนการ อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องและอาหารขยะ (Junk Food) นอกจากนี้แล้ว อาหารประเภทที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ก็มีความเสี่ยงทำให้เกิดหลอดเลือดเสื่อมลงได้ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่หวาน ลดอาหารที่ปรุงแต่ง อาหารรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารทอด รวมไปถึงการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ และหมั่นออกกำลังการ พร้อมกับตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายของผู้สูงวัยไทยสามารถห่างไกล “ โรคความดันโลหิตสูง” ได้