ปัสสาวะไม่ออก ปัญหาหนักใจของวัยทำงาน-สูงอายุ

ปัสสาวะไม่ออก ปัญหาหนักใจของวัยทำงาน-สูงอายุ

ปัสสาวะไม่ออก ปัญหาหนักใจของวัยทำงาน-สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.ไชยยงค์  นวลยง
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา 
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

 

 

ปกติคนเราถ่ายปัสสาวะวันละประมาณ 3-4 ครั้ง  กลางคืนหลังจากนอนหลับไปแล้วมักไม่ต้องลุกขึ้นมามาถ่ายการถ่ายปัสสาวะต้องอาศัยกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ซึ่งมีระบบประสาทมาควบคุมการทำงานให้ปกติโดยกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวไล่น้ำปัสสาวะออกทางท่อปัสสาวะเมื่อมีความรู้สึกปวด

โดยปกติแล้วคนเราจะถ่ายปัสสาวะได้ครั้งละประมาณ 300-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือมิลลิลิตร และใช้เวลาถ่ายประมาณ 30 วินาที โดยมีแรงไหลของน้ำปัสสาวะสูงสุดในผู้ชายประมาณ 20-25 มิลลิลิตรต่อวินาที ส่วนผู้หญิงจะประมาณ 25-30 มิลลิลิตรต่อวินาทีหากแรงไหลน้อยกว่า 10-15 มิลลิลิตรต่อวินาทีถือว่าผิดปกติ

การที่ปัสสาวะไม่ออกนั้นมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ กระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัว มีการอุดกั้นของท่อปัสสาวะ

 

กระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัวอาจเกิดจากระบบประสาทที่มาเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ โดยอาจมีความผิดปกติตั้งแต่สมอง ไขสันหลัง และปลายประสาทที่มาเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัดจากโรคของระบบประสาท ที่พบมากคือ กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น หักทำให้ประสาทไขสันหลังเสียหน้าที่ไป หรือจากโรคเบาหวานที่ทำให้ปลายประสาทเสียหน้าที่

และที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบตัวได้ อาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะถูกยืดจากน้ำปัสสาวะเต็มเกินความจุของกระเพาะเอง เนื่องจากมีการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือจากการที่มีโรคของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำให้บีบตัวไม่ได้

 

มีการอุดกั้นของท่อปัสสาวะส่วนใหญ่ที่ปัสสาวะไม่ออกมักมีการอุดกั้นของท่อปัสสาวะ เกิดได้หลายสาเหตุ อาทิ

- โรคต่อมลูกหมากโตเป็นเนื้องอกธรรมดาที่พบในชายสูงอายุ มักพบมากในช่วงอายุ 60-80 ปี เช่นเดียวกันกับมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะค่อย ๆ โตขึ้น และชายสูงอายุ 2 ใน 5 คนจะมีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติคือ มีประวัติปัสสาวะบ่อย ต้องเบ่ง ปัสสาวะรอนานกว่าจะออก ปัสสาวะลำบากและไม่หมด  กลุ่มนี้อาจได้รับการรักษามาก่อนหรือไม่ก็ได้ อาการจะเป็นมากจนกระทั่งปัสสาวะไม่ออกเมื่อไปกลั้นปัสสาวะ กินยาแก้หวัดลดน้ำมูก ยาแก้ท้องเสีย หรือมักเกิดในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือมีประวัติดื่มสุรา หรือไวน์

- คอกระเพาะปัสสาวะตีบแคบพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี  

- ภาวะท่อปัสสาวะตีบ ผู้ป่วยมักมีประวัติอุบัติเหตุบาดเจ็บของท่อปัสสาวะมาก่อน เช่น กระดูกเชิงกรานหัก หรือหกล้มคร่อมตอแล้วทำให้มีท่อปัสสาวะฉีกขาด ในผู้ป่วยหญิงมักพบว่ามีการตีบตันของท่อปัสสาวะส่วนปลายเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศหญิง 

- ภาวะหูรูดของท่อปัสสาวะบีบรัดตัวผิดปกติพบได้ในผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดทางทวารหนัก เช่น ริดสีดวงทวาร หรือฝีคัณฑสูตร หรือมีประวัติประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ



นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดจากนิ่วหรือก้อนเลือดไปอุดตันท่อปัสสาวะ  และในรายที่ท้องผูกมาก อุจจาระจะไปอัดที่ทวารหนักแล้วไปกดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ออก  รวมทั้งภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันก็ทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันจะมีอาการปวดปัสสาวะอย่างมาก ทุรนทุราย และพบว่ามีก้อนเหนือหัวเหน่า นั่นหมายถึง กระเพาะปัสสาวะที่มีน้ำปัสสาวะอยู่เต็ม

ส่วนในรายที่ปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากระบบประสาทที่ควบคุมเสียหายจนไม่มีอาการปวดปัสสาวะ แต่เมื่อคลำพบก้อนที่ท้องน้อย กลุ่มนี้อาจมีอาการของไตวายและยังตรวจพบพยาธิสภาพของการที่มีระบบประสาทเสียร่วมด้วย

 

ผลแทรกซ้อนที่ตามมา

  1. อาการปวด เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ผู้ป่วยมีอาการปวดทุรนทุราย และมีก้อนที่หน้าท้อง

  2. มีการติดเชื้อ เพราะมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ ทำให้มีการติดเชื้อง่าย บางคนมีไข้สูง หนาวสั่น  น้ำปัสสาวะขุ่นบางรายเป็นหนอง

  3. ทำให้เกิดนิ่วได้ การที่มีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

  4. ไตวาย เนื่องจากมีน้ำเต็มกระเพาะปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจากท่อไตก็ไหลลงมาไม่ไต้ ทำให้การกรองของเสียจากไตเสียไป มีของเสียในร่างกายท่วมท้น ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดโลหิตจาง เหนื่อย ภาวะเลือดเป็นกรด สารโพแทสเซียมในเลือดสูง เกร็ดเลือดทำหน้าที่เสียไปทำให้เลือดออกง่าย

  5. ในผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เป็นผู้หญิง และมีประวัติเป็นมะเร็งในช่องเชิงกราน โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกได้รับการฉายแสงและฝังแร่ พวกนี้มักมีประวัติปัสสาวะเป็นเลือดเป็นๆหายๆ ในรายที่รุนแรงก็มีเลือดออกมากพร้อมกับมีก้อนเลือดออกมา ทำให้อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก พวกนี้มีอาการซีดอ่อนเพลีย และบางรายมีไตวายร่วมด้วย

 

การรักษาที่สำคัญในระยะแรกต้องทำให้น้ำปัสสาวะออกก่อน มีหลายวิธี ได้แก่

  1. ใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้น้ำปัสสาวะออก แล้วคาสายสวนไว้ก่อน

  2. ในรายที่มีเลือดออกและมีก้อนเลือด ต้องสวนล้างเอาก้อนเลือดออกให้หมดหากยังมีเลือดไหลอยู่ให้ใช้ไฟฟ้าจี้ห้ามเลือด หรือคาสายสวนปัสสาวะ แล้วสวนล้างด้วยน้ำเกลือ

  3. ในรายที่ใส่สายสวนไม่ได้ เนื่องจากท่อปัสสาวะตีบ หรือต่อมลูกหมากโตมาก หรือมีนิ่วมาอุดก็ต้องใช้เครื่องมือขยายท่อปัสสาวะ และใส่สายสวนปัสสาวะ หากเป็นนิ่วก็ใช้เครื่องมือดันนิ่วเข้ากระเพาะปัสสาวะ แล้วก็คาสายสวนปัสสาวะ

  4. ในรายที่ไม่สามารถใส่สายสวนปัสสาวะ หรือขยายท่อปัสสาวะได้ ก็ต้องระบายน้ำปัสสาวะออกทางหน้าท้อง โดยการผ่าตัด หรือเจาะรูใส่สายสวนปัสสาวะทางหน้าท้องเหนือหัวหน่าว

 

หลังจากระบายน้ำปัสสาวะได้แล้วแพทย์จะหาสาเหตุการอุดกั้นและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปเพื่อสุขภาพดีของท่านจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook