เทคนิคออกกำลังกายแบบ ณัฐ ศักดาทร อดีตเด็กห่วยกีฬา ที่มาเป็นนักวิ่งมาราธอน
ถ้าใครติดตาม IG ของ ณัฐ ศักดาทร คงจะเห็นว่า เจ้าตัวเพิ่งลงแข่งโกเบมาราธอนไปเมื่อเร็วๆ นี้ แถมยังทำสถิติใหม่ให้ตัวเองในการวิ่งครั้งนี้ ด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที เร็วกว่าเวลาเดิมที่เคยทำได้ถึง 3 นาที ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ณัฐบอกว่าเขาเคยเป็นเด็กห่วยกีฬามาก่อน ถึงขนาดที่เวลาเรียนวิชาพลศึกษาก็ได้เกรดน้อยกว่าทุกวิชา และเวลาเล่นกีฬาอะไรก็เป็นได้แต่ตัวสำรอง ด้วยเหตุผลนี้ เราเลยอยากรู้ว่า ณัฐมีเทคนิคในการออกกำลังกายอย่างไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นอีกคนในเรื่องกีฬา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนหันมาเริ่มต้นออกกำลังกายด้วย
ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
“ช่วง 3-4 ปีก่อน เราเห็นรูปคนไปวิ่งตามงานต่างๆ แล้วก็เห็นว่าน่าสนใจดี ก็คิดว่าอยากจะลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วบังเอิญมีน้องที่สนิทกันชวนไปลงวิ่งงานหนึ่งที่เป็นมินิมาราธอน จำได้ว่าตอนนั้นไปซ้อมวิ่งที่สวนลุมฯ วิ่งแค่รอบเดียวก็เหนื่อยแล้ว ทั้งที่ระยะทางแค่ประมาณ 2.5 กม. เอง”
“แต่พอถึงวันจริงแล้ววิ่งจนจบได้ เราก็เกิดความรู้สึกว่า ไอ้เด็กห่วยกีฬาในอดีตคนนั้นมันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วพอได้ลองอะไรใหม่ๆ มันเหมือนมีสารเคมีบางอย่างในร่างกายที่ทำให้สนุก คือเหนื่อยแต่สนุกนะ หลังจากนั้นเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกๆ อย่างมันน่าจะเป็นไปได้ ถ้าเราตั้งใจมากพอ ฝึกฝนมากพอ นั่นคือจุดเริ่มต้นให้หันมาวิ่ง ช่วงแรกๆ เก็บแต่มินิมาราธอนเป็นปี วิ่งไม่เกิน 12 กม. แต่วิ่งถี่ แทบจะวิ่งอาทิตย์เว้นอาทิตย์ แล้วถึงค่อยข้ามมาเป็นฮาล์ฟมาราธอน จนมาถึงมาราธอน”
“ใครที่ยังลังเลอยู่ว่าจะเริ่มต้นยังไง ให้สมัครลงวิ่งสักงานไปเลย จะได้มีเดดไลน์ให้ตัวเอง แล้วเราจะได้เริ่มฝึกซ้อม มันก็เหมือนเวลาเราเตรียมสอบ เราก็จะรู้ว่าวันสอบจริงคือเมื่อไหร่ ต้องอ่านหนังสือเมื่อไหร่ แต่ถ้าไม่มีวันสอบเลย จะมีสักกี่คนที่จะลุกขึ้นมาติวตัวเอง มันจะไม่มีแรงขับเคลื่อน แต่ถ้าเราสมัครไปแล้ว เราก็จะมีแรงขับอีกทาง”
แตกเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อย
“บางคนเริ่มวิ่งโดยมองว่า อยากจะวิ่ง 42 กม. ให้ได้ แต่เขามองอยู่แค่นั้น ลืมที่จะแตกเป้าหมายออกมาระหว่างทาง แตกเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมาย ค่อยๆ เก็บระยะทาง ค่อยๆ อัพเลเวลตัวเองไป แล้วก็ภูมิใจกับเป้าหมายระหว่างทางนั้น เพราะถ้าโฟกัสแต่เป้าหมายใหญ่อย่างเดียว อาจจะทำให้ท้อได้ อาจจะรู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้สักที แต่ถ้าเราแตกออกมาเป็นเป้าหมายเล็กๆ ก็จะทำให้รู้สึกว่า เราเข้าใกล้มันมากขึ้น แทนที่จะรู้สึกว่าทำไมไม่ถึงสักที วิธีคิดแบบนี้นอกจาจะทำให้เราไม่ท้อแล้ว ยังช่วยให้เราวางแผนการซ้อมได้ดีด้วย”
อุปกรณ์ต้องพร้อม
“ของที่เตรียมก็จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วยว่าเราวิ่งที่ไหน ตอนไหน อย่างถ้าไปวิ่งที่อากาศหนาว ก็จะเตรียมกางเกงขายาวกับเสื้อแบบรัดรูปไป แต่ถ้าอากาศร้อนก็จะเป็นเสื้อกล้ามกับกางเกงขาสั้น นอกจากนั้นก็จะมีหูฟัง เพราะผมเป็นคนชอบฟังเพลงขณะวิ่ง จะมีเพลย์ลิสต์สำหรับวิ่งมาราธอนเตรียมไว้สี่สิบห้าสิบเพลงเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงฝรั่ง บีทเร็วๆ ฟังแล้วตื่นเต้นเร้าใจ แล้วก็มีสายรัดตัวที่ใส่โทรศัพท์และมีปลอกแขนเล็กๆ ไว้เช็ดเหงื่อระหว่างทาง”
“อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ เครื่องดื่มเกลือแร่อย่างเกเตอเรดที่จะต้องเตรียมมาด้วย เพราะถ้าเป็นการวิ่งระยะไกล ร่างกายเราจะสูญเสียทั้งน้ำ เกลือแร่ และพลังงาน ผมเลยดื่มเกเตอเรดตอนก่อนวิ่งอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก่อน เพราะก่อนจะออกกำลังกาย เราก็ไม่ควรทำให้ร่างกายของเราอยู่ในภาวะขาดน้ำ งานวิ่งบางงานก็จะมีเครื่องดื่มเกลือแร่ให้นักกีฬาระหว่างทางด้วย เพราะการได้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ระหว่างวิ่งก็จำเป็นเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ เลยก็คือดื่มอีกทีหลังจากวิ่งเสร็จ หลังวิ่งนี่สำคัญมาก หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดว่าน้ำเปล่าก็เพียงพอ แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดว่าต้องการแค่น้ำก็พอ แต่จริงๆแล้วร่างกายยังต้องการเกลือแร่ และพลังงานที่ได้จากคาร์โบไฮเดรต (หรือน้ำตาล) ที่สูญเสียไปกับเหงื่ออีกด้วย คาร์โบไฮเดรต (หรือน้ำตาล) นอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังเป็นตัวช่วยดูดซึมเกลือแร่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
“ข้อดีอีกอย่างของเกเตอเรดก็คือ เกลือแร่ในเครื่องดื่มอยู่ในระดับที่ร่างกายสามารถดูดซึมมาใช้ได้ทันที เพราะมีน้ำตาลไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากน้ำหวานทั่วไปที่ร่างกายต้องใช้เวลาดูดซึมมากกว่า ส่วนเรื่องรสชาติก็จะชอบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้อาจจะเป็นเกเตอเรดกลิ่นองุ่น อีกวันอาจจะเป็นกลิ่นมะนาว แต่ทั้งหมดคือชอบอะไรที่ดื่มเข้าไปแล้วรู้สึกสดชื่นและทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ไม่ขาดเกลือแร่”
เชื่อมั่นในตัวเอง
“สำหรับคนที่อยากออกกำลังกาย แต่ยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ ให้ย้อนดูชีวิตตัวเองที่ผ่านมา แล้วจะเห็นว่า มันมีหลายเรื่องที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าจะมีอีกเรื่องก็คงไม่ยากเกินไปหรอกการออกกำลังกายก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงตัวที่มันยากที่สุดตรงช่วงแรก เพราะเรากำลังสู้กับความเคยชินเก่าและพยายามสร้างความเคยชินใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเอาชนะช่วงแรกๆ ไปได้ เครื่องมันจะเริ่มติด ถ้าเทียบกับการวิ่ง ช่วงกิโลฯ แรกๆ ก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะกล้ามเนื้อยังไม่คุ้น แต่ถ้าเราตั้งใจจริง สุดท้ายก็จะทำได้”
“วันที่ตื่นมาแล้วขี้เกียจวิ่งผมก็มีเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่เอาชนะความเหนื่อย ความอยากนอนต่อได้ พอไปถึงสนามวิ่งแล้ว ไม่มีครั้งไหนที่ผมจะไม่รู้สึกดีกับตัวเอง ผมว่าคนอื่นก็คงเหมือนกันที่ไม่มีครั้งไหนที่รู้สึกแย่กับการออกกำลังกายเพราะมันคือการทำให้ตัวเองรู้สึกดี แต่มันต้องผ่านช่วงไม่กี่นาทีนั้นไปให้ได้”
“ผมเชื่อว่าถ้าเรามีอะไรสักอย่างที่ไม่พอใจในชีวิตตัวเอง แล้วเราใช้ชีวิตแบบเดิมไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลง เรากัดฟันเปลี่ยนแปลง แล้วคุณจะภูมิใจกับตัวเอง และไม่อยากกลับไปเป็นคนเก่าเลย”
[Advertorial]