5 ผลเสียที่เกิดจาก “กินเร็วเกินไป”
ชีวิตสมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องรีบ ต้องแข่งกับเวลา นอกจากจะต้องทานอาหารง่ายๆ อย่างอาหารจานด่วน หรือบางคนต้องทานอาหารฟาสต์ฟูดของเมืองนอกบ่อยๆ ด้วยเพราะการบริการที่รวดเร็วทันใจ เพื่อจะได้เอาเวลาไปทำงาน ทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ยังก่อให้เกิดนิสัยที่ต้องกินข้าวให้เสร็จเร็วๆ ด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าการกินข้าวเร็วส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในแบบที่หากคุณทราบแล้วจะไม่อยากกินข้าวเร็วอีกต่อไป
ผลเสียที่เกิดจาก “กินเร็วเกินไป”
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
สาเหตุหลักๆ ของอาการท้องอืดมักเกิดจากอาหารที่ทานเข้าไป อาจจะด้วยอาหารบางประเภทที่ทำปฏิกิริยากับระบบย่อยอาหารของเรา แต่ก็รวมถึงพฤติกรรมในการกินอาหารของเราด้วย คนที่กินเร็วมักเลือกทานอาหารที่อิ่มง่าย อิ่มไว จึงมักเป็นอาหารที่เต็มไปด้วยแป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ และไขมัน นอกจากนี้ยังเคี้ยวไม่ละเอียด ซึ่งทำให้ย่อยยาก และเกิดเป็นอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ในภายหลัง
- อ้วน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนที่กินเร็ว จะเสี่ยงอ้วนได้มากกว่าคนที่กินข้าวด้วยความเร็วปกติ หรือกินข้าวช้า โดยมากกว่า 70% ของคนอ้วน หรือคนที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะอ้วนมีนิสัยกินเร็ว เพราะส่วนใหญ่คนที่กินเร็วมักเป็นคนที่เคี้ยวไม่ค่อยละเอียด และกลืนลงท้องอย่างรวดเร็ว ไม่รอให้อาหารตกถึงกระเพาะอาหารก็รีบๆ ยัดลงท้องให้หมดๆ ไป จนบางครั้งเราอาจจะลงเอยด้วยการกินมากกว่าปกติ เพราะกินหมดแล้วยังไม่อิ่ม จึงสั่งอาหารเพิ่มเพื่อกินให้อิ่มมากขึ้น
- โรคเบาหวาน
เริ่มน่ากลัวขึ้นมาอีกนิดด้วยความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่ไม่มีใครอยากเป็น การกินเร็วโดยเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 งานวิจัยจาก Lithuanian University of Health Sciences ระบุว่า คนที่กินเร็วจะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 มากกว่าคนที่กินด้วยความเร็วตามปกติถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว
- โรคกระเพาะอาหาร / กรดไหลย้อน / มะเร็งกระเพาะอาหาร
คนที่กินเร็วมักเคี้ยวไม่ละเอียด เมื่อชิ้นอาหารถูกลำเลียงไปที่กระเพาะอาหารด้วยชิ้นขนาดใหญ่เกินไป กระเพาะอาหารจึงหลั่งน้ำย่อยออกมาเพิ่มขึ้น และมีความเข้มข้นของกรดสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อนได้ในอนาคต นอกจากนี้หากปล่อยให้อาการหนักขึ้น อาจเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- โรคอาหารเป็นพิษ
เรื่องเหลือเชื่ออีกเรื่องคือ 5-10% ของอาหารที่เป็นพิษสามารถบ่งบอกได้จากรูป รส และกลิ่นของอาหาร แต่คนที่กินเร็วจะรับรู้รส และกลิ่นของอาหารได้น้อยกว่าคนปกติ (เพราะรีบทาน) ดังนั้นเมื่อความสามารถในการรับรู้รูป รส และกลิ่นน้อยลง ก็อาจเสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษมากขึ้นด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว มื้อหน้าเคี้ยวอาหารให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียดขึ้นก่อนกลืน ค่อยๆ รับรู้รสชาติของอาหารให้มากขึ้น และมีความสุขกับการทานอาหารมากขึ้น จะได้ไม่ต้องทรมานกับโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตกันนะ