เตือน! เจ้าของหมา-แมว ระวังถูกกัด แม้เป็นสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนและผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขและแมว ให้ระวังถูกกัด ข่วน แนะอย่าประมาทแม้เป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี หากประชาชนถูกกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลและเข้าพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมขอความมือผู้เลี้ยงนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อป้องกันการติดโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่เลี้ยงสุนัข หรือแมวไว้ ขอให้ระมัดระวังอย่าให้สัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยไม่มีคนดูแล เพราะอาจถูกสัตว์อื่นกัด เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเจ้าของสัตว์หรือผู้เลี้ยงสัตว์ ถูกสุนัขและแมว ข่วน/กัด แล้วป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าหลายราย
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากป่วยแล้วผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายทุกชนิด โดยในประเทศไทยพบมากในสุนัขและแมว สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2560 ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต 8 ราย พบในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลพบว่า เหตุของการพบเชื้อในสัตว์เลี้ยงมีได้หลายสาเหตุ เช่น การปล่อยสุนัข หรือแมวออกนอกบ้านโดยไม่มีผู้ดูแล แล้วถูกกัด ข่วนจากสัตว์อื่นที่มีเชื้อ และการที่ไม่นำสัตว์เลี้ยงไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอทุกปี ข้อมูลล่าสุดผู้ป่วยรายหนึ่งเข้ารักษาพยาบาลจากการถูกสุนัขตนเองกัด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยสุนัขตัวดังกล่าวไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
กรมควบคุมโรค ขอประชาชนระมัดระวังสุนัขหรือแมว ไม่เพียงสัตว์เลี้ยงผู้อื่นเท่านั้น หากแต่สัตว์เลี้ยงของตนเองจำเป็นต้องระวังด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การป้องกันมีดังนี้ คือ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง(สุนัข/แมว) โดยเริ่มเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือนขึ้นไปและรับบริการต่อเนื่องทุกปี อย่างสม่ำเสมอ
- ประชาชนที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัด/ข่วน ให้รีบล้างแผล สบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยา เช่น เบตาดีน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่แผล พร้อมกักสัตว์เลี้ยงที่ถูกกัด/ข่วนไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที
- รีบพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบทุกเข็ม และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้นิสัยเปลี่ยน เช่น กัดไม่เลือกหน้า เป็นต้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422