ทานอาหารปิ้งย่างอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคร้าย
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารปิ้งย่างมักมีสารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ อยู่ด้วย เลี่ยงทานได้ก็อยากให้เลี่ยง แต่ถ้ามื้อไหนจำเป็นต้องทานจริงๆ เช่น เลี้ยงส่งเพื่อนกันเป็นกลุ่มใหญ่ หรือเป็นมื้อที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ เราก็มีวิธีที่จะช่วยให้อาหารปิ้งย่างในครั้งนั้นของคุณปลอดภัยต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น
อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? อาหารปิ้งย่าง ตัดส่วนไหม้ออก ลดเสี่ยงมะเร็ง?
- หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง อย่างเนื้อหมู เบคอน เนื้อวัว ไส้กรอก เลือกเป็นเนื้อขาวอย่างเนื้อไก่ ปลา หรืออาหารทะเลที่มีไขมันน้อยจะดีกว่า
- หากทานเนื้อย่าง พยายามตัดส่วนที่เป็นไขมันออก และหากย่างเสร็จแล้วควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกก่อนทาน หรือปิ้งย่างแบบที่ไม่ให้เนื้อไหม้เกรียมจนเกินไป เคล็ดลับคือ ย่างตรงกลางเตา จะทำให้เนื้อสุกไว และสม่ำเสมอทั่วกันทั้งชิ้นมากกว่าการปิ้งข้างๆ เตา
- อย่าทานน้ำจิ้มมากเกินไป เพราะในน้ำจิ้มมีโซเดียมสูง เท่ากับว่ามีเกลือสูง อาจทำให้ไตทำงานหนัก
- เลือกทานผักผลไม้ให้มากขึ้น โดยอาจทานผักผลไม้ 60% ของมื้ออาหารนั้นๆ (ไม่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปมากขนาดนั้น)
- นอกจากผักแล้ว สามารถทานเห็ด เต้าหู้ วุ้นเส้น เพิ่มมากขึ้นได้
- ตักทานครั้งละน้อยๆ และไม่จำเป็นต้องตักมาเผื่อเพื่อนร่วมโต๊ะหากเขาไม่ได้ไหว้วานให้ช่วยตักมาให้ เพราะอาจทำให้เหลือจนทานไม่หมด ต้องฝืนทาน หรือต้องจ่ายค่าปรับได้
- เลือกดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์
- งดการซดน้ำซุปที่มาจากตะแกรงปิ้งย่างของหมูกระทะเกาหลี เพราะนอกจากจะมีไขมันเยอะแล้ว ยังอาจมีส่วนประกอบจากไขมันเนื้อสัตว์ไหม้เกรียมที่ติดอยู่บนกระทะปะปนอยู่ด้วย
- ไม่ควรทานปิ้งย่างติดต่อกันนานจนเกินไป อย่างมากที่สุดคือ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง
- ทานอาหารมื้อใหญ่แล้ว วันต่อมาควรหาเวลาออกกำลังกาย เผาผลาญพลังงานส่วนเกินที่ทานเข้าไปเมื่อคืนด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว มื้อปิ้งย่างคราวหน้าก็รู้แล้วเนอะว่าควรทานอย่างไร ถึงจะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากใครที่มีปัญหาทางสุขภาพค่อนข้างหนัก เช่น เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรืออยู่ในระหว่างการควบคุมอาหารจากแพทย์ ถ้าเลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยงไปเลยจะดีกว่า เพราะถ้าอาการหนักขึ้นมา ไม่น่าจะคุ้มแน่ๆ