ฆ่าตัวตายตามคนดัง พฤติกรรมเลียนแบบที่ควรระวัง
จากข่าวการเสียชีวิตของศิลปินดังหลายต่อหลายคนในปีนี้ ยังมีข่าวที่น่าเศร้าสลดยิ่งกว่า คือข่าวแฟนคลับฆ่าตัวตายตามศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ เราจะสามารถป้องกันเรื่องนี้กันได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน
ฆ่าตัวตายตามคนดัง พฤติกรรมเลียนแบบที่ควรระวัง
การฆ่าตัวตายตามคนดัง เรียกว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย (copycat suicide หรือ suicide contagion) หมายถึง พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายของคนอื่น โดยการได้รับข้อมูล การเข้าถึง การได้เห็นภาพ ได้ฟังการบรรยายพรรณนาในเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อทีวีหรือสื่ออื่นๆ
พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มใหญ่
การฆ่าตัวตายของคนที่มีชื่อเสียง คนดัง ดารา บางครั้งก่อให้เกิด การเลียนแบบเป็นกลุ่มใหญ่ เรียกว่า cluster ตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้มีการเลียนแบบการฆ่าตัวตาย แบบ cluster suicide เช่น การฆ่าตัวตายของนักร้องชาวญี่ปุ่น ยูกิโกะ โอกาดะ ที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกสูง และ ฮิเดะ มัตสุโมโตะ มือกีตาร์ วงเอ็กซ์-เจแปน ที่ใช้ ผ้าขนหนูผูกคอตาย กับลูกบิดประตูห้องนอน cluster suicide มักจะมีอิทธิพลกับกลุ่มวัยรุ่น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย
การเลียนแบบการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น อาจพบในระบบโรงเรียน สังคมชุมชน เพราะการขาดปัจจัยปกป้อง พบว่าการฆ่าตัวตายเลียนแบบสิ่งที่ปรากฏในสื่อนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ภายหลังการนำเสนอข่าวที่น่าสะเทือนใจ บรรยายวิธีการกระทำโดยละเอียด นำเสนอซ้ำบ่อยๆ หรือทำให้คิดว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจ เป็นความกล้าหาญ
นอกจากนี้ คนในปัจจุบันอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น และการที่คนเราจมอยู่กับโลกออนไลน์มากไปทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้มีการจัดระบบความคิด การแก้ไขปัญหา และการจัดการความเครียดที่ไม่ดีพอ
ผู้ที่มีความเสี่ยงมีพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย
ผู้ที่เลียนแบบมักพบว่าเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ อาจจะเป็นคนดังที่เสียชีวิต หรือเป็นอะไรที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา เช่น นิยาย ละคร ภาพยนตร์ต่างๆ
ผู้ที่เลียนแบบมักพบว่ามีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายระดับหนึ่ง ขณะที่ในผู้ที่สุขภาพจิตสมบูรณ์ดีจะไม่พบปรากฏการณ์เช่นนี้ โดยสามารถพบได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่วัยเด็ก วัยรุ่นแต่เพียงอย่างเดียว และอาจใช้วิธีฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง หรือฆ่าตัวตายตามคนดังไปในวิธีที่ใกล้เคียงกันก็ได้ แต่มักมีจุดประสงค์เพื่อปลิดชีวิตตัวเองตามไปด้วยอีกคน
สาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากหลายปัจจัย เช่น สาเหตุทางชีวภาพ ด้านจิตใจและอารมณ์ สาเหตุทางด้านจิตวิญญาณ สาเหตุทางด้านสติปัญญา สาเหตุด้านครอบครัว สาเหตุทางด้านพฤติกรรมและสังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม สาเหตุด้านเศรษฐกิจ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายได้สำเร็จ มักมีปัญหาความยุ่งยากใจมากกว่าหนึ่งปัญหาเสมอ
วิธีป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย
คนรอบตัวอย่างพ่อแม่ และคนรอบข้างต้องคอยเตือนไม่ให้ลูกหลานใช้เวลากับโลกออนไลน์มากเกินไป ซึ่งโดยเฉลี่ยควรอยู่ในระดับ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเวลาที่เหลือควรหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อพบปะกับผู้คน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของชีวิตได้
นอกจากนี้เมื่อเห็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า เช่น ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ย้ำคิดย้ำทำ เชื่องช้า ซึม เก็บตัว ชอบพูดเปรยว่าถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดี และพูดสั่งเสียอยู่เรื่อยๆ ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์ และอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสัญญาณดังกล่าวมานานมากกว่า 2-3 เดือน
สำหรับตัวเอง หากพบว่ามีปัญหา เครียด ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรระบายปัญหาออก เช่น ปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจที่สุดเพื่อหาทางออก ช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัวสอบถามทุกข์สุข ทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที จะสามารถคลี่คลายปัญหาสุขภาพจิตได้ดีมาก โดยร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้นอนหลับสนิททุกวัน และที่สำคัญไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มสุราดับทุกข์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการเสพติด และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง