อันตรายเสี่ยงโรคร้าย จากการไม่ล้างแอร์-ตู้เย็น
เครื่องใช้ไฟฟ้า 2 ชิ้นที่ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหนก็ควรจะต้องมีเป็นอย่างแรกๆ คงหนีไม่พ้นเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ เพื่อให้ได้อากาศเย็นๆ ไม่ร้อนจนตัวเปียก และตู้เย็น เพื่อเก็บน้ำดื่มเย็นๆ เก็บน้ำแข็ง ไอศกรีมไม่ให้ละลาย และเก็บอาหารต่างๆ ไว้ทานในวันต่อๆ ไป
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่หลายคนใช้อยู่ทุกวัน แต่กลับเป็นของใช้ที่เราไม่ค่อยดูแลรักษาความสะอาดกันมากนัก จนอาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่ทำให้คุณป่วยได้
อันตรายจากการไม่ล้างแอร์
ในแอร์มีความชื้นทั้งตัวแอร์ และท่อของแอร์ที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียลิจิโอเนลลา นิวโมฟิวลา ซึ่งหากหายใจเอาฝอยละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยลักษณะอาการมี 2 แบบคือ แบบปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่าโรคลิเจียนแนร์ และแบบที่มีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกไข้ปอน ตีแอกหรือปอนเตียก
เมื่อไรที่เราควรล้างแอร์?
ควรสังเกตว่าอากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอับหรือไม่ หากมีกลิ่น ในเบื้องต้นควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นไม่หาย ควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแบบเต็มระบบ
ควรล้างแอร์บ่อยแค่ไหน?
การล้างทำความสะอาดแอร์ควรทำเป็นประจำ โดยดูตามความเหมาะสมจากสภาพแวดล้อมและการใช้งาน หากเป็นแผ่นกรองอากาศควรล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้น้ำฉีดแรงๆ ที่ด้านหลัง ด้านที่ไม่ได้รับฝุ่น ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออกอย่างน้อยเดือนละครั้ง และควรล้างแอร์แบบเต็มระบบอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้งเช่นเดียวกัน แต่หากใช้เป็นประจำทุกวัน ควรล้างทำความสะอาดประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในแอร์แล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย
อันตรายจากการไม่ล้างตู้เย็น
ตู้เย็นเป็นแหล่งเก็บรักษาอาหารชั้นดีของทุกครอบครัว แต่หากไม่ได้ทำความสะอาดอยู่เสมอ รวมถึงน้ำแข็งที่จับตัวกันหนาที่ไม่ได้ทำการละลายออกมา ทำให้ตู้เย็นมีความเย็นลดน้อยลง นอกจากจะเก็บอาหารไม่ได้นานเหมือนเคยแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่างๆ อย่างดี หนึ่งในนั้นคือ เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจีนส์ ที่พบได้ในเนื้อสด นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ นมสด เนยแข็งชนิดนิ่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนี้ สลัดที่เตรียมล่วงหน้า (เช่น สลัดบาร์) ผักผลไม้สดที่ไม่ได้ล้าง และเนื้อที่ปรุงสำเร็จรูปต่างๆ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคนี้มากเป็นพิเศษ คือ หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้ที่กำลังถูกกดระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่ทานยาสเตียรอยด์ และผู้ที่เป็นโรคเอดส์
เมื่อไรที่เราควรล้างตู้เย็น
สังเกตได้ง่ายๆ ว่าความเย็นของตู้เย็นลดลง เก็บอาหารไม่ได้นานเหมือนเก่า น้ำดื่มที่แช่ไว้ไม่เย็นเหมือนเดิม หรือเย็นช้ากว่าเดิม น้ำแข็งเกาะตัวหนา แช่น้ำแข็ง หรือไอศกรีมได้ไม่นานก็ละลาย หรือไม่แข็งเหมือนเดิม และ/หรือ ได้กลิ่นเหม็นอับ หรือมีร่องรอยคราบอาหารในชั้นตู้เย็น หรือพบอาหารเน่าเสียในตู้เย็น โดยเฉพาะพวกที่มีเชื้อรา
ควรล้างตู้เย็นบ่อยแค่ไหน?
ควรทำความสะอาดอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน หรือทุกครั้งที่พบอาหารเน่าเสียในตู้เย็น เพื่อเป็นการกำจัดเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียทันทีที่พบ โดยวิธีในการทำความสะอาดตู้เย็น คือการนำเอาอาหารออกมาจากตู้เย็นให้หมด คัดแยกอาหารที่ยังสดสะอาด กับอาหารที่เน่าเสีย หรือใกล้เน่าเสีย ใกล้หมดอายุออกไปทิ้ง จากนั้นกดปุ่มละลายน้ำแข็ง หรือถอดปลั๊กตู้เย็นเพื่อละลายน้ำแข็งด้วยตัวเอง (ในกรณีที่เป็นตู้เย็นเก่า) นำฟองน้ำชุบน้ำยาล้างจาน เช็ดทำความสะอาดภายในตู้เย็น ทั้งชั้นวางอาหาร และผนังทุกด้านของตู้เย็น จากนั้นเช็ดทำความสะอาดด้วยฟองน้ำ หรือผ้าชุบน้ำบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดด้วยผ้าแห้งสะอาดจนด้านในของตู้เย็นแห้งดี แล้วค่อยนำอาหารเข้าไปเก็บไว้เหมือนเดิม