3 โรคร้ายซุกซ่อนในผู้หญิง ที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
โรคภายในของผู้หญิงที่น่ากลัวที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่ที่พบบ่อยและเป็นกันมากเป็นอันดับแรกคือ “เนื้องอกในมดลูก” เป็นโรคที่เกิดในกล้ามเนื้อมดลูก การโตของเนื้องอกอาจโตในโพรงมดลูกหรือโตเป็นก้อนนูนจากมดลูก พบบ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-40 ปี ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้หญิงใน 10 คน มักตรวจพบเนื้องอกมดลูกได้ 3-4 คน ส่วนมากมักจะตรวจเจอโดยบังเอิญ และมีถึง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องรับการรักษา อาการที่มาพบแพทย์มักมาด้วยอาการปวดท้องประจำเดือน หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ อาจมีอาการปวดหลังหรือปัสสาวะถี่ร่วมด้วย ผู้ที่ควรต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอก มีอาการบ่งชี้ดังนี้
1. เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น ประจำเดือนมามากหรือมากะปริบกะปรอย
2. มีอาการปวดท้องมาก
3. เนื้องอกไปกดทับอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย
4. ตรวจพบเนื้องอกโตเร็วที่ไม่เคยเจอมาก่อน หรือว่าเคยเจอมาก่อนขนาด 1 ซม. พอติดตามอาการสักประมาณ 3-4 เดือน ขนาดของเนื้องอกกลับโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
5. เนื้องอกที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง โรคนี้รักษาด้วยการผ่าตัดที่มีความยากขึ้นอยู่กับ ขนาด จำนวนและตำแหน่ง
แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่คือ การผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง (Advanced Minimal Invasive Surgery) ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้อง ไม่ว่าเนื้องอกจะมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ และเพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันมีการนำเอาเนื้องอกออกด้วยการใส่ถุงปั่นให้มีขนาดเล็กก่อนแล้วค่อยๆ ดึงออกมา เพื่อมั่นใจว่าถ้าเป็นเนื้อร้ายจะได้ไม่มีการแพร่กระจายของเนื้องอก ซึ่งแผลผ่าตัดที่บริเวณหน้าท้องมีขนาดเล็กมากเพียง 5-10 มิลลิเมตร
อันดับสอง โรคซีสต์รังไข่ รังไข่เป็นอวัยวะขนาดเล็กที่อยู่บริเวณด้านข้างปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนต่างๆ ของผู้หญิงให้สมดุล ในทุกๆ เดือนรังไข่จะผลิตไข่ใบเล็กๆ ออกมา โดยไข่จะเคลื่อนจากด้านล่างผ่านท่อนำไข่ เพื่อเตรียมพร้อมผสมกับอสุจิของเพศชาย ส่วนซีสต์มีลักษณะเป็นถุงที่เต็มไปด้วยของเหลวที่สามารถก่อตัวขึ้นได้ในรังไข่ เมื่อเกิดการตกไข่ผิดปกติ จึงทำให้เกิดการคั่งของถุงน้ำในรังไข่ เกิดไข่ไม่ตก เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่มีการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติ
ซีสต์ในรังไข่ หลักๆ มี 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่สามารถหายเองได้ กับซีสต์ที่ไม่สามารถหายได้เอง ซึ่งซีสต์ที่หายเองได้ คือซีสต์ที่เกิดขึ้นได้จากฮอร์โมนของผู้หญิงในทุกๆ รอบเดือน และเป็นซีสต์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนซีสต์ที่หายเองไม่ได้ และต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ เดอร์มอยด์ซีสต์ และอื่นๆ มีทั้งกลุ่มมะเร็ง และไม่ใช่มะเร็ง เป็นต้น
ซีสต์ในรังไข่ที่น่ากลัวคือ “มะเร็ง” เพราะไม่สามารถวินิจฉัยด้วยเพียงแค่การตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasound) การยืนยันการวินิจฉัยโรคเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง คือต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องเท่านั้น
สำหรับ ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นซีสต์ที่มีอาการ เช่น ปวดท้องช่วงมีประจำเดือนแบบมากกว่าปกติ ส่วนซีสต์อื่นๆ มักไม่มีอาการ โดยเฉพาะมะเร็ง 80% มักไม่มีอาการ แต่คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องบวมอย่างเห็นได้ชัด ท้องอืด แน่นท้อง น้ำหนักไม่ค่อยลง สำหรับอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันนั้น อาจเกิดจากซีสต์รั่วหรือบีบขั้ว ทำให้เกิดอาการปวด บางคนโชคร้ายซีสต์ที่เป็นมะเร็งแตก ส่งผลให้มะเร็งแพร่กระจายลามไปทั่วอวัยวะอื่นๆ ต้องตัดรังไข่ออก หลังผ่าตัดต้องรับการบำบัดด้วยคีโมต่อ หรือบางคนเป็น ซีสต์แบบบีบขั้ว ก็ต้องตัดรังไข่ออกเช่นกัน เพราะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่ได้ บางคนไม่อยากมีลูกแล้ว และไม่อยากกลับมาเป็นซีสต์อีกก็ตัดรังไข่ออก หรือเข้าสู่วัยทองแล้วก็สามารถตัดออกได้ กรณีคนที่ตัดแต่ซีสต์ออก แต่ไม่ได้เอารังไข่ออกก็มีโอกาสกลับมาเป็นซีสต์ได้อีก ซึ่งการรักษาสามารถส่องกล้องผ่าตัดได้เหมือนการรักษาเนื้องอกในมดลูก
อันดับสุดท้าย ได้แก่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคที่ผู้หญิงวัยมีประจำเดือนไม่ควรมองข้าม เพราะหากมีอาการปวดประจำเดือนมากๆ ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีเลือดคั่งในมดลูก หากใครมีอาการดังกล่าวอย่าละเลยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
การรักษามี 2 แบบ คือรักษาด้วยยาและด้วยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยยาคือทำอย่างไรก็ได้ให้ประจำเดือนมาน้อยที่สุด แต่ในกรณีที่คนไข้ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว ก็อาจพิจารณาการผ่าตัดเอามดลูกออกได้เพื่อเป็นการรักษาแบบเอารอยโรคออก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยยังประสงค์มีบุตร สามารถทำการรักษาได้ด้วยการใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมน เพื่อชะลอความรุนแรงของโรคได้ ในส่วนของการผ่าตัด “เนื้องอกในมดลูก (Myoma uteri)” นั้นแตกต่างจากการตัด “มดลูกที่บวม (Adenomyosis)” ซึ่งเนื้องอกจะเป็นก้อนๆ สามารถตัดออกได้ แต่กรณีที่มดลูกบวมจำเป็นต้องตัดมดลูกออก พบเคสที่ผ่าตัดยาก คือการที่มดลูกมีพังผืดก้อนใหญ่ และเท่าที่ทีมแพทย์ผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องเคยพบใหญ่สุดถึง 3 กิโลกรัม
แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายที่เข้ามาช่วยรักษาโรคดังกล่าว แต่แพทย์แนะนำว่าทางที่ดีที่สุด คือการเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อติดตามระยะของอาการได้ตั้งแต่เริ่มต้น และเพื่อหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที