วิธีสังเกต เนื้อสัตว์แบบไหน มี “พยาธิ”
หากลองค้นหาข้อมูลดูในอินเตอร์เน็ตจะพบว่ามีการถ่ายภาพเนื้อสัตว์สดๆ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของเนื้อสัตว์นั้นๆ และสอบถามอย่างไม่แน่ใจว่า “นี่มันคือพยาธิใช่ไหม?” อยู่มากมายหลายต่อหลายครั้ง และส่วนใหญ่ภาพที่เห็นน่ากลัวเกินกว่าที่เราจะกล้านำมาปรุงอาหารทานต่อ แต่ก็มีบางครั้งที่เป็นเพียงส่วนผสมของเครื่องเทศเพิ่มเข้ามาจากผู้ผลิตที่ทำให้เราตกใจเล่นเท่านั้น
ดังนั้น Sanook! Health จึงขอแนะนำวิธีเลือกเนื้อสด ว่าแบบไหนเสี่ยงพยาธิมาฝากกันค่ะ
พยาธิตัวตืด
พยาธิตัวตืด มีทั้งพยาธิตืดหมู และพยาธิตืดวัว จะพบพยาธิตืดวัวได้บ่อยกว่าตืดหมู พบได้ทั่วไปในประเทศที่มีการบริโภคเนื้อวัว และเนื้อหมู
ลักษณะของเนื้อที่พบพยาธิ จะเป็นลักษณะของไข่พยาธิทรงกลมสีขาวเหลือง เม็ดขนาดเท่าสาคู ลักษณะคล้ายถุงน้ำใสๆ เล็กๆ ขาวๆ มีหัวของพยาธิอยู่ภายในซึ่งเป็นระยะติดต่อ กระจายอยู่ทั่วเนื้อ
เมื่อคนกินหมูหรือวัวที่มีไข่พยาธิตัวตืดโดยไม่ปรุงสุกให้ดี พยาธิตัวอ่อนจะโผล่หัวออกมา และเจริญเติบโตเป็นพยาธิ เต็มวัยเกาะติดอยู่กับผนังลำไส้เล็กโดยมีปล้องยาวออกไปเรื่อยๆ พยาธิตัวเต็มวัยทำ ให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร รวมทั้งคลื่นไส้ อาเจียน และซีด จากภาวะโลหิตจาง
พยาธิไส้เดือน
พยาธิไส้เดือนเป็นพยาธิที่พบได้มากที่สุดประมาณ 70-80% ของฟาร์มสุกร จะเข้าสู่ร่างกายของหมูผ่านการกิน โดยหมูอาจจะทานอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีไข่ของพยาธิอยู่ ไข่พยาธิจึงเข้าไปเจริญเติบโตตามลำไส้ ปอด และอวัยวะภายในอื่นๆ ของหมู
ลักษณะของเนื้อที่พบพยาธิ จะพบลักษณะเส้นๆ เรียวๆ นุ่มๆ สีขาวแดง อยู่ในเครื่องในของหมู โดยอาจสับสนกับเส้นเลือดของหมูได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบพยาธิไส้เดือนในเครื่องในของหมูมากกว่าเนื้อหมู ได้แก่ ไส้ ตับ ปอด และไต เป็นต้น แต่หากสังเกตเห็นตับหมูมีลักษณะเป็นจุดเลือดออก เหมือนมีเม็ดเลือดขาวมารวมกัน นั่นจะเป็นระยะที่ตัวอ่อนเคลื่อนตัวผ่านตับ จนทำให้เกิดรอยโรคที่เรียกว่า “milk spot” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่หมูติดพยาธิ 10-14 วัน หากไม่มีการติดพยาธิซ้ำ รอย milk spot นี้จะหายไปเอง แต่หากมีการติดพยาธิซ้ำ จะพบรอย milk spot ที่ตับด้วย
หากบริโภคหมูดิบที่มีตัวพยาธิ หรือไข่พยาธิเข้าไป พยาธิก็อาจเข้าไปเจริญเติบโตในร่างกายได้ หากกลายเป็นโรคพยาธิไส้เดือนอาจเกิดอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย มีไข้ และหากพยาธิฝังตัวอยู่ที่ลำไส้เล็ก จะมีอาการท้องใหญ่ ขาดสารอาหารปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหากมีจำนวนพยาธิมาก อาจกระจุกรวมตัวเป็นก้อนจนทำให้ลำไส้อุดตันได้
พยาธิตัวกลมไทรชิเนลลา สไปเรลีส
เป็นพยาธิอีกชนิดหนึ่งที่อาจพบได้ในเนื้อสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า เช่น หมู หนู หมี และยังสามารถพบได้ใน แหนม โดยพยาธิสามารถมีชีวิตอยู่ในเเหนมได้นานถึง 8 วัน
ด้วยเหตุที่พยาธิตัวกลมไทรชิเนลลา สไปเรลีส เป็นพยาธิตัวกลมขนาดเล็ก จึงมักสังเกตไม่ค่อยเห็น แพทย์ต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
พยาธิตัวเต็มวัยจะไชอยู่ในลำไส้เล็กของสัตว์ หรือคนที่เป็นโรค เมื่อเมื่อผสมพันธุ์กันเเล้ว ตัวเมียจะปล่อยพยาธิตัวอ่อนออกมา ซึ่งท้ายที่สุดเเล้วมันจะเดินทางเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อลาย โดยมันชอบไปอยู่ในกล้ามเนื้อที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น กล้ามเนื้อเเถวน่อง ลิ้น กระบังลม
ในระยะเเรกในช่วงประมาณ 1-7 วัน หลังกินเนื้อดิบ จะมีอาการท้องร่วง คล้ายอาหารเป็นพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ต่อมาหลังจากอาทิตย์เเรกผ่านไป ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หน้าบวม หนังตาบวม เยื่อบุตาอักเสบเเละมีเลือดออกใต้หนังตา ตาพร่า อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อเเละกดเจ็บ การเคลื่อนไหวเเขนขาทำได้ลำบาก การพูด หายใจ กลืน เเละเคี้ยวอาหารทำได้ลำบาก ถ้าโชคร้ายก็อาจมีอาการเเทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจรุนเเรงถึงตายได้ ต่อจากนั้นประมาณอาทิตย์ที่ 5 หรือ 6 ไข้จะเริ่มลดลง อาการปวดกล้ามเนื้อลดลง พูดได้ดีขึ้น อาการต่างๆ จะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติ
นอกจากเนื้อสัตว์อย่างหมูหรือเนื้อแล้ว ปลา กุ้ง หอย เป็ด ไก่ กบ งู ยังพบพยาธิต่างๆ ที่อาจสังเกตเห็นได้ยากอีกมากมาย เช่น พยาธิตัวจิ๊ด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิใบไม้ในปอด และอื่นๆ
วิธีป้องกันเนื้อสัตว์ที่มีพยาธิ ทำได้ง่ายๆ เพียงเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และปรุงเนื้อสัตว์ให้สุก 100% ทุกครั้งที่ทาน เพราะความร้อนจากการปรุงอาหารสามารถทำลายไข่ และตัวพยาธิได้ ทำให้เราทานเนื้อสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ไร้พยาธิเจริญเติบโตในร่างกาย