เข้าใจกันใหม่! ไม่ต้องเห็นใครแก้ผ้า ก็เป็น "ตากุ้งยิง" ได้

เข้าใจกันใหม่! ไม่ต้องเห็นใครแก้ผ้า ก็เป็น "ตากุ้งยิง" ได้

เข้าใจกันใหม่! ไม่ต้องเห็นใครแก้ผ้า ก็เป็น "ตากุ้งยิง" ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินความเชื่อในวัยเด็ก ว่าหากใครแอบดูคนอื่นที่อยู่ในชุดวันเกิด (ไม่ใส่เสื้อผ้า) อาจทำให้เป็น "ตากุ้งยิง" ได้ พอเราโตขึ้นแล้วกลับมามองที่ความเชื่อเดิมๆ ก็กลับฉุกคิดได้ว่า ความเชื่อนี้มันเป็นอะไรที่ดูจะเกินจริงไปหน่อย ในเมื่อเขาโป๊ เราผ่านไปเห็น หรืออาจตั้งใจไปเห็น ทำไมโรคนั้นจึงมาตกที่เราได้ล่ะ?

จริงๆ แล้ว ตากุ้งยิง นั้นเป็นอาการอักเสบที่บริเวณฐานของตา เมื่อเป็นแล้วก็จะมีอาการบวมแดงจนเห็นได้ชัด แล้วก็จะปวดอยู่หน่อยๆ แต่ในบางรายก็ดูจะไม่หน่อยสักเท่าไหร่ ในอดีต หากใครที่เป็นตากุ้งยิงละก็มักจะถูกล้อว่าไปแอบดูใครอาบน้ำมาหรือเปล่า เป็นความเชื่อที่พูดกันจนติดปาก ซึ่งในความเชื่อนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะผิดไปทั้งหมด ลองนึกสภาพห้องน้ำที่ล้อมด้วยสังกะสี หรือเป็นกำแพงอิฐ หิน ปูนธรรมดาเนี่ยล่ะ ก็จะมีรูเล็กๆ จากผนังฟากใดฟากหนึ่งให้มองเห็นได้ เมื่อใครไปแอบดู ก็มักจะเอาตาเข้าไปทาบกับรูเล็กๆ นั้นที่มีพวกฝุ่น สิ่งสกปรก เชื้อรา บางครั้งสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในตาและทำให้อักเสบได้ จริงๆ ผู้ใหญ่แค่อยากจะเตือนเราเท่านั้นเอง ไม่อยากให้โตขึ้นไปเป็นมนุษย์โรคจิตวิตถาร เลยเตือนกันไว้ตั้งแต่เด็กๆ ซะเลย

 

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิง เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณโคนขนตา เมื่อเป็นเข้าก็ทำให้เชื้อโรคแทรกซ้อนเข้าไปได้ง่าย อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ มาจากการที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือออกกำลังกายน้อย ไม่สม่ำเสมอ เป็นเหตุทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ต่ำลงจนร่างกายอ่อนแอ อีกทั้งคนที่ต้องทำงานแล้วใช้สายตามากๆ หรือคนที่มีสายตาผิดปกติแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ในบางรายขยี้ตาบ่อยจนเกินไป ทำให้เปลือกตาไม่สะอาด การใช้เครื่องสำอางแล้วล้างออกไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือสารเคมี ไปจนถึงการใส่ หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดตากุ้งยิงได้เช่นกัน

ตากุ้งยิง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อหนอง Staphylococcus aureus ซึ่งในบางรายที่เป็นตากุ้งยิงแล้วไม่ได้รับการรักษา หนองอาจจะหายเอง หรืออาจแตกออก หรืออาจจะทำให้เกิดการสะสมจนเป็นก้อนขนาดใหญ่รบกวนการมองเห็นของเราได้

 

ตากุ้งยิง แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

  1. ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด : ตากุ้งยิงชนิดแรกนี้เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา มีลักษณะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณขอบตา มีสีเหลืองตรงกลาง รอบจะนูนแดง เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ

  2. ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน : ตากุ้งยิงชนิดนี้เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตาตรงเนื้อเยื่อสีชมพูที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไป ต้องปลิ้นเปลือกตาออกมาจึงจะเห็น เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการปวดที่บริเวณดวงตา หากใช้นิ้วคลำดูก็จะพบตุ่มแข็งและเจ็บ หากปลิ้นเปลือกตาด้านในออกมาก็จะเห็นหัวฝีเหลืองๆ ซึ่งการที่ต่อมไขมันอุดตันนี้ อาจจะมีการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมกันอยู่ภายในต่อมกลายเป็นตุ่มนูน ไม่มีอาการเจ็บ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า คาลาเซียน แต่ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า ตาเป็นซีสต์

 

อาการของผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิง

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่หนังตา เวลากลอกตา หรือหลับตาจะทำให้รู้สึกปวด ในบางรายอาจมีอาการบวมที่เปลือกตา เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นก้อน มีน้ำตาไหล รู้สึกคันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตา ทั้งยังแพ้แสงแดด โดยในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการบวมมากจนตาปิด หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นมีหนองไหลออกจากบริเวณเปลือกตา ในกรณีที่หนองแตกในตาจะทำให้ขี้ตามีสีเขียว

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง พบได้โดยมากในวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ ส่วนผู้สูงอายุนั้นพบได้น้อยกว่า แต่ถ้าหากมีการพบในผู้สูงอายุก็จะต้องมีการตรวจร่างกาย โดยอาจตรวจพบ โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ต่ำลง อีกทั้ง ตากุ้งยิง ก็ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ชอบขยี้ตา ไม่รักษาความสะอาดของใบหน้า ผู้ที่มีโรคผิวหนังใบหน้าและใบหน้ามัน

สำหรับการตรวจวินิจฉัยให้รู้ว่าเป็น ตากุ้งยิง หรือไม่นั้น แพทย์ก็จะทำการตรวจว่ามีก้อนนูนที่บริเวณหนังตาหรือไม่ หากพบ แล้วกดไปที่ก้อนนูนจะรู้สึกเจ็บ มีอาการตาแดง มีขี้ตาชัดเจน แต่ถ้าเป็นไตแข็งๆ ก็จะเป็นเพียงก้อนนูน กดไม่เจ็บ ตาไม่แดงก็ไม่เป็นอะไร เพียงแต่จะรบกวนการมองเห็น หรืออาจทำให้ระคายเคืองเหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในดวงตา นับว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

 

จะรักษา ตากุ้งยิง ได้อย่างไร?

  1. รักษาด้วยยา : วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาตากุ้งยิงในระยะเริ่มแรก เป็นช่วงที่เปลือกตาเริ่มอักเสบ แต่ยังไม่เป็นหนอง โดยแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาควบคู่ไปกับการประคบด้วยน้ำอุ่นเพื่อทำให้การอักเสบทุเลาลง จนค่อยๆ หาย และเป็นปกติในที่สุด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องได้รับการตรวจตาและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาใช้เองเด็ดขาด

  2. รักษาด้วยการผ่าตัด : วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาตากุ้งยิงที่มีลักษณะเป็นตุ่ม หรือมีก้อนแข็งเป็นไตขึ้นมา โดยแพทย์จะทำการผ่าและขูดออกจนสะอาดที่สุด ซึ่งเมื่อทำการผ่าตัดแล้ว แต่ยังมีหนองหลงเหลืออยู่จึงทำให้มีโอกาสที่จะเป็นซ้ำอีก ผู้ป่วยจึงต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบ หรือเกิดติดเชื้อขึ้นใหม่

 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นตากุ้งยิง

  1. ล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ

  2. ห้ามบีบหนองออกด้วยตัวเอง

  3. ประคบด้วยน้ำอุ่น

  4. เลี่ยงการแต่งหน้า

  5. งดใส่คอนแทคเลนส์

 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว และไม่อยากเป็น ตากุ้งยิง ก็ควรหมั่นดูแลความสะอาดบนใบหน้า ผิวรอบดวงตา และมือของเราอยู่เสมอ หากหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะได้ก็แนะนำให้ทำ เพราะมีเชื้อแบคทีเรีย หรือสิ่งสกปรกปะปนอยู่ ซึ่งเมื่อเราเกิดการระคายเคืองที่ผิวรอบดวงตาและขยี้เข้าก็เสี่ยงที่จะเป็นตากุ้งยิง หรือตาอักเสบได้ ฉะนั้นต้องระวังกันให้มากๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook