สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค

สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค

สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะหมั่นสังเกตและดูแลสุขภาพของเล็บสม่ำเสมอ เล็บสุขภาพดีควรมีสีชมพูจางๆ พื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บแข็งแรง หากต่างจากนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติของร่างกาย

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เล็บที่มีสุขภาพดี คือ เล็บที่มีสีออกชมพูจางๆ จากสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บ มีพื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บมีความแข็งแรงและเล็บมีความหนาไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ถ้าเล็บมีความแตกต่างไปจากนี้ ถือว่าเป็นเล็บที่ไม่ปกติจะเป็นสัญญาณบอกโรคได้ คือ

  • เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ
  • เล็บเปลี่ยนสี
  • ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง
  • ปลายเล็บร่น
  • เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ 

จึงควรสังเกตความผิดปกตที่เกิดขึ้น โดยปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาโรคได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  

สำหรับความผิดปกติมีรายละเอียด ดังนี้ 

  1. เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ มีหลายโรคที่ทำให้เล็บหนาขึ้น เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บจะหนาขึ้นแล้ว  อาจมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ โรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายๆ เล็บ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก  เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน  

  2. เล็บเปลี่ยนสี  เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เล็บที่มีสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บพบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน  โรคตับแข็งและโรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็น แถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ 

  3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง  คนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย หรือเกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาด  บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราเนื่องจากไม่รักษาความสะอาด ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง รอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย  

  4. ปลายเล็บร่น  ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลง 
     
  5. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระเป็นอาการที่พบได้บ่อย  ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้  แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่มีการสร้างเล็บผิดปกติ

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลรักษาเล็บ ควรหลีกเลี่ยงการทาเล็บเป็นประจำ เพราะจะทำให้เล็บเปราะปลายเล็บเผยอ เล็บบุ๋มมีลูกคลื่น ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเล็บ โดยเมื่อตัดเล็บ ไม่แคะซอกเล็บมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เล็บฉีกขาด เกิดแผล ทำให้เชื้อโรคเข้า  ควรสวมถุงมือขณะทำงานบ้าน หรือเมื่อต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้ หมั่นทาโลชั่นเพื่อถนอมผิวที่มือและเล็บเป็นประจำ จะช่วยให้เล็บแข็งแรง เงางาม เรียบเนียน มีสุขภาพ เล็บที่ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook