โรควูบ หรือล้มทั้งยืน อันตรายอาจถึงตาย

โรควูบ หรือล้มทั้งยืน อันตรายอาจถึงตาย

โรควูบ หรือล้มทั้งยืน อันตรายอาจถึงตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรควูบคือ อาการเป็นลมเกือบหมดสติ หรือบางรายหมดสติไป การเป็นลมหมดสติ มีตั้งแต่เป็นลมธรรมดา จนถึงเป็นลมเนื่องจากความผิดปกติขั้นรุนแรงของหัวใจ

อาการวูบหรือการเป็นลมหมดสติ เป็นอาการที่พบบ่อย เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียความรู้สึกตัวและแรงของกล้ามเนื้อชั่วคราว อันเป็นผลมาจากเลือดไปเลี้ยงก้านประสาทสมองลดลง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องจากปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจและแรงต้านทานของหลอดเลือดทั่วร่างกาย อาการวูบนี้มักจะฟื้นกลับเป็นปกติได้เอง และอาจเป็นซ้ำได้อีก

จากการสำรวจในต่างประเทศพบว่าเกือบ 10% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา และผู้ใหญ่กว่า 50% ต่างเคยมีอาการวูบมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง

ผู้ป่วยโรควูบหมดสติที่หาสาเหตุไม่ได้ มีอัตราเสียชีวิตในปีแรกที่เป็น สูงถึง 6% โดย 4% เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน แต่หากมีสาเหตุจากโรคหัวใจ อัตราเสียชีวิตในปีแรกที่เป็นจะสูงถึง 18 – 33% โดยที่ 24% เป็นการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

สำหรับคนที่ปฏิบัติวิชาชีพ เช่น พนักงานขับรถ นักบิน กรรมกรก่อสร้าง หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ยิ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังจากอาการวูบได้สูงขึ้น

โรควูบแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการวูบจากภาวะโลหิตต่ำชั่วคราว แต่ไม่ใช่อาการโรคหัวใจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาการเป็นลมทั่วไป เนื่องจากร่างกายทนกับสภาพแวดล้อมไม่ได้ โดยมีสาเหตุจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ยืนหรือนั่งนานเกินไป ส่วนอีกกลุ่มคือ อาการวูบจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ การอุดตันของเส้นเลือด

สาเหตุของการเป็นลมเกือบหมดสติหรือหมดสติ มีหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. ภาวะตกใจหรือเสียใจรุนแรง

  2. ไอหรือจามแรงมากเกินไป

  3. ขณะยืนถ่ายปัสสาวะ หรือหลังถ่ายปัสสาวะ หลังจากที่กลั้นมานาน

  4. ออกกำลังกายมากเกินไป

  5. หลังอาหารมื้อหนัก

  6. เส้นประสาทสมองที่ 5,9 อักเสบ

  7. เป็นโรคสมองเสื่อมหรือสมองฝ่อ

  8. โรคพาร์กินสัน บางรายที่มีระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมอยู่ด้วย

  9. โรคเบาหวาน ในรายที่เส้นประสาทโดนทำลายจากเบาหวาน

  10. จากยาบางชนิดเช่น รับประทานยาลดความดันมากเกินไป

  11. ดื่มสุรามากเกินไป

  12. จุดกำเนิดไฟฟ้าของหัวใจเสื่อมสภาพ

  13. เสียเลือดมาก หรือเสียน้ำออกจากร่างกายมากเกินไป เช่น ท้องร่วงรุนแรง อาเจียนรุนแรง

  14. มีการกระตุ้นในระบบทางเดินอาหาร เช่น ล้วงคอ อาเจียน เบ่งถ่ายอุจจาระ ปวดท้องรุนแรง

  15. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง

  16. ระบบทางเดินไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพหรือผิดปกติ

  17. สาเหตุจากการเสียสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจและหลอดเลือด

  18. ภาวะเสียเลือดจากหัวใจอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

  19. โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ

  20. เนื้องอกในห้องหัวใจ

  21. ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง

  22. ภาวะที่มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมาก และมีการกดการทำงานของหัวใจ

  23. ภาวะเสียเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจแตก หรือมีการฉีกขาดรุนแรง

  24. มีลิ่มเลือดใหญ่ไปอุดตันเส้นเลือดในปอด

  25. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงมากเกินไป

 

วิธีปฏิบัติเมื่อกำลังจะเป็นลมหมดสติ เมื่อเริ่มมีอาการ ให้หาที่พักเกาะยึดไว้ และซอยเท้า เพื่อให้เลือดกลับสู่หัวใจได้มากขึ้น ถ้ายังไม่บรรเทา ให้นั่งลง และถ้ายังไม่ดีขึ้นให้นอนราบเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น และจะสามารถป้องกันการเป็นลมได้ รวมทั้งยังลดการเกิดการบาดเจ็บหากล้มกระแทกพื้นหรือวัตถุอื่นๆ

ถ้าขับรถอยู่ ควรจอดทันที แล้วปรับที่นั่งให้อยู่ในท่านอนราบ ถ้าอยู่ในรถโดยสารควรหาที่นั่ง/นอนในรถ แล้วรีบแจ้งคนรอบข้างว่ากำลังจะเป็นลม ไม่ควรรีบลงจากรถ เพราะอาจหมดสติตรงทางลง ทำให้เกิดอันตรายได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook