ระวัง! อุปกรณ์ 10 ชนิดใกล้ตัวที่มีเชื้อโรคสะสม
ข้อมูลจาก Health Media ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้อง ไว้ดังนี้
1. น้ำหอมปรับอากาศ
สถาบันวิจัยแห่งชาติ UC Berkeley and Lawrence Berkeley National Laboratory ระบุว่า สารพาททาเลต (Pthalate) ส่วนประกอบในบรรจุภัณฑ์พลาสติกของน้ำหอมปรับอากาศที่ใช้ในบ้าน มีผลรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของทารก ฉะนั้นการเลือกใช้กลิ่นจากธรรมชาติ และปรับห้องให้อากาศถ่ายเท ก็ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี
2. สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ข้อมูลจาก เอฟดีเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารไตรโคลซาน (Triclosan) ที่เป็นส่วนประกอบในสบู่ชนิดนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในสัตว์ทดลอง และส่งผลต่อการดื้อยาของแบคทีเรียด้วย ฉะนั้น ก่อนซื้อควรอ่านฉลากให้มั่นใจก่อนทุกครั้ง
3. แปรงสีฟัน
แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือในการทำความสะอาดเชื้อโรคในช่องปาก แต่ตัวแปรงสีฟันเองก็มีการสะสมเชื้อโรคอันเนื่องมาจากการใช้งาน และการเก็บที่ผิดวิธี สมาคมทันตกรรม ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุกๆ 3 เดือน เพื่อประสิทธิภาพในการทำความสะอาดซอกฟัน และป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
4. มาสคารา
สมาคมทัศนมาตรศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่ควรใช้มาสคาราหลังจากเปิดใช้แล้ว 2-3 เดือน เพราะความชื้น และอุณหภูมิห้อง จะทำให้แบคทีเรียบริเวณขนแปรงเจริญเติบโต เป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา
5. คอนแทคเลนส์
สมาคมทัศนมาตรศาสตร์ ระบุว่า คอนแทคเลนส์ที่สกปรก และมีอายุการใช้งานมากกว่า 3 เดือน เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดตาติดเชื้อ และกระจกตาเป็นแผลได้
6. ลิปกลอส
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เครื่องสำอางที่มีการใช้กับปาก จะมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก ฉะนั้นหลังการเปิดใช้ 6 เดือน หรือหมดอายุ ควรโละทิ้งดีกว่า
7. ชุดชั้นใน เสื้อชั้นใน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่ควรเสื้อชั้นในตัวเก่าที่ใช้แล้วจนยางยืด เพราะจะทำให้ปวดหลัง และเต้านมหย่อนยาน ไม่กระชับ นอกจากนี้แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตเสื้อชั้นในจะระบุให้ตากในที่ร่ม แต่ต้องให้ลมแดดเข้าถึง มีอากาศถ่ายเท ไม่เช่นนั้น ชุดชั้นในอาจติดเชื้อรา หรือเชื้อโรคจากการอับชื้นได้
8. ฟองน้ำล้างจาน
จากข้อมูลงานวิจัย พบว่า การใช้ฟองน้ำทำความสะอาดไมโครเวฟ หลังจากการอบเนื้อ หรือไก่ หากซักฟองน้ำไม่สะอาด และผึ่งไว้จนแห้งสนิท อาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงได้
9. สมาร์ทโฟน
มีงานวิจัยรายงานว่า การใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า และวิตกกังวล ฉะนั้น ในหนึ่งสัปดาห์ควรเก็บสมาร์ทโฟนของคุณไว้ในลิ้นชักห่างตัวสัก 2-3 ครั้ง เพื่อให้สมองได้หยุดพักผ่อน
10. เก้าอี้
ผู้เชี่ยวชาญอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการนั่งติดเก้าอี้เป็นเวลานาน ส่งผลให้เป็นโรคเอ็นซีดี (NCDs) มะเร็ง และซึมเศร้า ฉะนั้นควรเปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นการยืน หรือเดิน ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
เมื่อรู้แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกับของใช้ใกล้ตัวอย่างนี้ให้ถูกต้องตามหลักอนามัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และสุขภาพดี