“หัวใจวายเฉียบพลัน” ไอแรงๆ ช่วยได้จริงหรือ?
โรคหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่สามารถมีอาการกำเริบขึ้นมากะทันหัน ในขณะที่เราอาจกำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ เช่น ขับรถ ขี่จักรยาน ใช้เครื่องจักร หรืออาจจะแค่กำลังยืน หรือเดินอยู่ริมถนน ซึ่งหากมีอาการหมดสติในระหว่างที่กำลังทำกิจกรรมนั้นๆ อยู่ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมาว่า หากรู้สึกตัวว่ากำลังจะมีอาการโรคหัวใจกำเริบ ให้พยายามไอแรงๆ จะช่วยให้รอดพ้นมาจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ Sanook! Health หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน แบ่งตามสาเหตุใหญ่ๆ ได้ 2 สาเหตุ คือ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หรือช้าเกินไป ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มากเพียงพอ ทำให้ความดันโลหิตของร่างกายต่ำลง จนเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และมีการบีบตัวน้อยลง ทำให้เกิดอาการเลือดคั่งในปอด จนเกิดภาวะปอดบวมน้ำ หรือน้ำท่วมปอด จนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
ไอแรงๆ ช่วยให้รอดจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้จริงหรือ?
ตามข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมา กล่าวว่า หากรู้สึกเหมือนอาการของโรคหัวใจกำลังจะกำเริบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หน้ามือ ให้หายใจยาวๆ ลึกๆ และไอแรงๆ หลายๆ ครั้ง เหมือนพยายามจะขากเสลดออกจากลำคอ เรียกวิธีนี้ว่า การผายปอดด้วยการไอ
จริงๆ แล้วการไอแรงๆ เป็นคำแนะนำของแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ป่วยตรวจสวนหัวใจ ซึ่งต้องมีการฉีดสารทึบรังสีเพื่อแสดงภาพหลอดเลือดหัวใจ สารทึบรังสีจะเข้าไปแทนที่เลือดทำให้หัวใจขาดเลือดชั่วคราว แต่ในบางรายการขาดเลือดอาจรุนแรงถึงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงที่เรียกว่า เวนตริคูลา ฟิบริเลชั่น (ventricular fibrillation) และทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ แพทย์จะทำการรักษาโดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าเพื่อทำให้หัวใจกลับเต้นปกติดังเดิม อาจใช้วิธีไอแรงๆ ซึ่งเป็นการช่วยบีบหัวใจให้สูบฉีดเลือดเสมือนการปั๊มหัวใจด้วยการกดหน้าอกหนึ่งครั้ง และมีรายงานว่าสามารถคงระดับความดันโลหิตจนถึงผู้ป่วยยังคงสติอยู่ได้เป็นเวลานานกว่า 30 วินาที
อย่างไรก็ตาม วิธีไอแรงๆ นี้ ไม่ได้ผลสำหรับกรณีการเจ็บหน้าอกทั่วไป เพราะวิธีนี้จะได้ผลต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยที่กำลังได้รับการใส่สายสวนหัวใจ (cardiac catheterization) แล้วเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นมา โดยต้องมีเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ (EKG monitor) ติดอยู่ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฝ้าดู โดยการให้คนไข้ไอแรงๆในกรณีนี้ อาจมีประโยชน์ระหว่างรอการรักษาด้วยยา
นอกจากนี้หากเราไอไม่แรงพอ หรือไม่สม่ำเสมอพอก็จะทำให้เลือดออกจากหัวใจไม่พอ ทำให้หมดสติและไม่สามารถไอต่อได้ ดังนั้นโอกาสจะช่วยตัวเองด้วยการไอแรงๆ ในชีวิตจริงน้อยมาก และเท่าที่มีรายงานเป็นการเกิดในโรงพยาบาล หรือในห้องสวนหัวใจ จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยจะไอเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตที่พอจะทำให้เขาเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้
หัวใจวาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วอยู่คนเดียว ต้องทำอย่างไร?
หากกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่คนเดียว เช่น ขับรถ ขี่จักรยาน เดินหรือยืนอยู่ริมถนน พยายามจอดรถอยู่นิ่งๆ ในมุมที่คิดว่าปลอดภัย เรียกให้คนอื่นมาช่วย หรือถ้าไม่มีใครอยู่รอบข้างจริงๆ ให้โทรศัพท์เรียกคนอื่นที่อยู่ใกล้ๆ มาช่วย หรือโทร 1699 ไม่ควรฝืนขับรถ หรือทำกิจกรรมใดๆ ต่อจนหมดสติไปกลางคัน
อ่านต่อ >> CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว ทำกิจกรรมต่างๆ คนเดียว หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จ้องใช้แรงมาก หรือทำให้เหนื่อยจนเกินไป และที่สำคัญ สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี อย่าชะล่าใจ หากมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจทุกปี เพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต