“มลพิษในอากาศ” อันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด
จากข่าวที่พบค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพ และปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์สูงจนถึงระดับ “ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” (อ่านต่อ >> โซเชียลตื่นตัว ค่าฝุ่นละอองอากาศในกรุงเทพฯ พุ่งสูง แนะใส่หน้ากาก) อาจทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มลพิษทางอากาศยังมีอีกมากมาย ไม่เพียงแค่ฝุ่นละอองตามท้องถนนเท่านั้น แต่ยังมีมลพิษทางอากาศอีกมากมายที่อันตรายต่อสุขภาพ และเราควรใส่ใจให้ความระมัดระวังกับอากาศรอบตัวกันให้มากขึ้นด้วย
มลพิษในอากาศ มีอะไรบ้าง?
- ฝุ่นละออง
ฝุ่นละออง เป็นมลพิษในอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานคร และชุมชนขนาดใหญ่ จากการวิจัยพบว่าฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจผ่านโพรงจมูกเข้าไปถึงถุงลมในปอด ทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง และฝุ่นละอองจะมีพิษมากขึ้น หากฝุ่นละอองนั้นเกิดจากการรวมตัวของก๊าซบางชนิด เช่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจนเข้าไปในอนุภาคของฝุ่น โดยก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองผิวหนัง ทางเดินหายใจ และดวงตาได้
- สารตะกั่ว
สารตะกั่ว มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และมีผลต่อกระบวนการรับรู้ และการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์
- ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีความสามารถในการละลายในเลือดได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200 - 250 เท่า เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน ทำให้ความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง ทำให้เลือดขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย และหัวใจทำงานหนักขึ้น หากมนุษย์ ได้รับก๊าซนี้ในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และเยื่อบุตา ทำให้เกิดการแสบจมูก หลอดลม ผิวหนัง และตา เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะทำให้ก๊าซละลายในของเหลวในระบบทางเดินหายใจ เกิดเป็นกรดซัลฟิวริก ซึ่งจะกัดกร่อนเยื่อบุ และอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานานๆ จะทำให้เป็นโรคจมูก และหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
- ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน มีผลต่อระบบการมองเห็น และผู้ที่มีอาการหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะทำให้มีอาการกำเริบขึ้นได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศ หากรวมตัวกับไอน้ำ จะสามารถเกิดเป็นกรดไนตริก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนวัสดุต่างๆ รวมถึงทางเดินหายใจของมนุษย์
- ก๊าซโอโซน
ก๊าซโอโซน มีฤทธิ์กัดกร่อน ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา และเยื่อบุระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูก และปอด ทำให้ความสามารถของปอดในการรับก๊าซออกซิเจนลดลง อาจเกิดโรคหืด โดยเฉพาะในเด็ก และมีอาการเหนื่อยง่าย และเร็ว ในคนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคหืด จะมีอาการมากขึ้นกว่าเดิม
- สารอินทรีย์ระเหยง่าย
สารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย มีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ โดยทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง นอกจากนี้สารบางชนิดเป็นสารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และเสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง เช่น polycyclic aromatic hydrocarbons เบนซีนและไดออกซิน (มักเกิดจากการเผาขยะมูลฝอยที่มีพลาสติกปน)
มลพิษในอากาศ กับโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อย โดยมีอุบัติการณ์ร้อยละ 30-40 ทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยถึง 400 ล้านคนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ และมีผู้ป่วยถึง 300 ล้านคนที่เป็นโรคหืด อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 20 และมีผู้ป่วยเด็กถึงร้อยละ 40 ขณะที่อุบัติการณ์ของโรคหืดมีประมาณร้อยละ 10 ดังนั้นจะมีผู้ป่วย 10-15 ล้านคนในประเทศไทย ที่ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจะมีผู้ป่วย 3-5 ล้านคนที่เป็นโรคหืด
อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ทั้ง 2 ชนิดนี้นี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่มีมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น เชื่อว่าการที่มีปริมาณของมลพิษ และสารระคายเคืองในอากาศมากขึ้น และประชากรสัมผัสกับสารดังกล่าวในอากาศมากขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และเยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคหืด มีความไวต่อการกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งสารก่อภูมิแพ้ และสารที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ มลพิษในอากาศทั้ง 7 ชนิดดังกล่าว จึงสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคหืดมีอาการมากขึ้นได้
จะแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างไร ในกรณีที่ได้รับสารมลพิษในอากาศปริมาณมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
- ควรรีบออกจากสถานที่ที่มีสารมลพิษในอากาศให้เร็วที่สุด และไปยังสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์แต่ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะในความรีบนั้น อาจทำให้ได้รับสารมลพิษในอากาศนั้นมากยิ่งขึ้นได้ ถ้าไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้รีบเปิดหน้าต่าง หรือประตูด้านตรงข้ามกับทิศทางลม แต่ปิดหน้าต่าง หรือประตู ด้านที่รับลมเข้าตัวบ้าน เพื่อให้มีอากาศหมุนเวียนเข้าออกได้สะดวก แต่หากเห็นว่าผู้ป่วย หายใจขัดหรือหยุดหายใจ ต้องรีบผายปอด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ดูอวัยวะที่สารมลพิษในอากาศเข้า เช่น หายใจเข้าคอ, สูดเข้าจมูก, สัมผัสกับผิวหนัง หรือตา เพราะแต่ละช่องทางที่สัมผัสมลพิษ จะเป็นตัวกำหนดการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ถ้าหายใจเข้าคอ ก็ต้องกลั้วคอด้วยน้ำสะอาด แล้วบ้วนทิ้ง อย่ากลืนลงไป, ถ้าสูดเข้าจมูก ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ, ถ้าสัมผัสกับผิวหนัง หรือตาก็ต้องล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือปลอดเชื้อ เป็นต้น
- หาอุปกรณ์มาปิดตา, จมูก และปากส่วนที่เสี่ยงเอาไว้ เช่นใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูกและปาก, ใส่แว่นตาสำหรับว่ายน้ำ, หรือใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน
- พยายามหาทิศทางลม หากรู้ทิศแล้วจะได้หลบ ไม่ไปอยู่ใต้ลม และควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การป้องกัน และลดผลกระทบของมลพิษในอากาศสู่สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ อาจกระทำได้ 3 แนวทางหลัก ๆ คือ
- ป้องกัน ควบคุม และลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดเช่น การเลือกใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุดการติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์บำบัดมลพิษที่เหมาะสมกับสารมลพิษชนิดนั้นๆ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ มาตรฐานการระบายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด
- การป้องกันที่ผู้รับเช่น การใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันเขม่าควัน และฝุ่นละออง เมื่อเกิดปัญหาหมอกควันจากการเผาขยะมูลฝอย, ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันมลพิษประเภทก๊าซต่าง ๆ ซึ่งมักบรรจุผงถ่านคาร์บอนเพื่อดักจับก๊าซไม่ให้เข้าสู่ระบบหายใจ และใส่หน้ากากอนามัยสำหรับการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆรวมทั้งปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับ และลดผลกระทบจากมลพิษในอากาศ
- การเพิ่มระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเช่น การกำหนดพื้นที่แนวกันชน (buffer zone) โดยหลักการ คือการจัดวางผังของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่แนวกันชนให้มีความสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ที่มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด
จะเห็นได้ว่า ปัญหามลพิษในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น เราต้องช่วยกันดูแลรักษาคุณภาพอากาศเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต โดยหากเป็นผู้ประกอบการหรือมีส่วนในการปล่อยมลพิษ เช่นการขับรถยนต์ ควรร่วมมือในการติดตั้งอุปกรณ์ลดและขจัดมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในชีวิตประจำวัน เรามีส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหามลพิษในอากาศทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เราจึงควรช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ยากเกินความสามารถของเราทุกคน เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่สำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งพวกเราทุกคน