สาเหตุ “แก้วหูทะลุ” อันตรายจากช่วงเสี้ยววินาที

สาเหตุ “แก้วหูทะลุ” อันตรายจากช่วงเสี้ยววินาที

สาเหตุ “แก้วหูทะลุ” อันตรายจากช่วงเสี้ยววินาที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจเคยได้ยินความน่ากลัวของอาการ “แก้วหูทะลุ” ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดจนน้ำตาเล็ดกันไปหลายรายกันมาบ้างแล้ว ที่สำคัญคือ อาการนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจพบเจอด้วยตัวเอง หรือมีคนรอบข้างมีอาการนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่อาจจะไม่ทราบว่าแก้วหูทะลุมีสาเหตุจากอะไร และมีวิธีการป้องกัน และรักษาอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรามาศึกษาเรื่องนี้กันไว้ก่อน เผื่อภายภาคหน้าใครมีอาการคล้ายแก้วหูทะลุ เราจะได้เข้าใจ และรีบจัดการอย่างถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว

 

แก้วหูทะลุ คืออะไร?

แก้วหูทะลุ เป็นอาการที่เยื่อแก้วหูฉีกขาด โดยเยื่อแก้วหูจะมีลักษณะเหมือนแผ่นกลมบางเหมือนหนังกลอง อยู่ลึกเข้าไปในรูหูบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นนอก (ใบหู และรูหู) และหูชั้นกลาง

ลักษณะเยื่อแก้วหูที่ฉีกขาดที่พบ อาจเป็นวงรี แตกออกเป็นหลายแฉกเหมือนดาว ขอบไม่เรียบ หรือมีเลือดคั่งบริเวณขอบของรอยทะลุ หรือภายในช่องหู

 

สาเหตุของ “แก้วหูทะลุ”

  1. ถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างรวดเร็ว และรุนแรง เช่น การใช้อุปกรณ์แคะหูอย่างไม่ระมัดระวัง ประสบอุบติเหตุของแข็งเข้าไปในรูหู

  2. หูถูกอัดกระแทกอย่างรุนแรงจากภายนอก เช่น การถูกตบบ้องหูอย่างแรง ประสบอุบัติเหตุของหนักๆ กระแทกหู

  3. ความดันรอบข้างเปลี่ยนกะทันหัน เช่น คนที่โดยสารเครื่องบิน หรือคนที่ดำน้ำลึกอย่างรวดเร็ว

  4. เยื่อแก้วหูติดเชื้อ อาจเป็นการติดเชื้อโดยฉับพลัน หรือเรื้อรังก็ได้ สาเหตุอาจมาจากการเป็นหวัด หรือน้ำเข้าหู เมื่อพบการติดเชื้อจนเป็นหนอง ติดเชื้อนาน หรือซ้ำๆ จนปริมาณหนองมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความดันในหูชั้นกลางจะสูงขึ้น จนแก้วหูทะลุในที่สุด

 

อันตรายจากอาการแก้วหูทะลุ

หากแก้วหูทะลุ จะมีปัญหาทางการได้ยิน ประสิทธิภาพในการได้ยินเสียงจะลดลง (ได้ยินมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของรู และความรุนแรงของเยื่อแก้วหูที่ทะลุ) และเมื่อเยื่อแก้วหูทะลุ อาจเป็นช่องทางของเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ หากมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บ้านหมุน ไปทำลายเส้นประสาทจนทำให้ใบหน้าเกิดอาการอัมพาต หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

 

การรักษาอาการแก้วหูทะลุ

ขั้นแรกหากมีอาการปวดหู เป็นไข้ หรือพบของเหลวคล้ายหนองไหลออกมาจากหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ชัดเจน หากเป็นอาการแก้วหะลุที่ไม่รุนแรงมาก รูที่ทะลุไม่ใหญ่มาก (อาจเกิดจากการแคะหู) อาจหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาอะไรเพิ่มเติมมากนัก แต่หากพบว่ารูที่ทะลุมีขอบไม่เรียบ แพทย์อาจวางกระดาษรองตรงชั้นขอบเพื่อช่วยให้แก้วหูสมานกันได้เรียบสนิทมากยิ่งขึ้น หากพบหนองก็จะต้องดูดหนองออกไปสังเกต และให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม สุดท้ายหากมีอาการรุนแรง พบรูทะลุค่อนข้างใหญ่ หรือติดเชื้อหนัก อาจทำการผ่าตัดปะแก้วหู

 

การป้องกันแก้วหูทะลุ

พยายามอย่าใช้อุปกรณ์แคะหูแหย่เข้าไปในรูหูด้านใน (อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? “คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?) หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินขณะที่กำลังไม่สบาย หรือเป็นหวัด ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงของความดันขณะดำน้ำ และหากมีไข้ ปวดหู หูอื้อ และพบของเหลวคล้ายหนองไหลออกมาจากหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาอย่างถูกวิธี 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook