12 อาหาร ทานมากเสี่ยง “โรคไต”
เพราะโรคไตที่น่ากลัวมีสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมในการทานอาหารของเรา โดยเฉพาะอาหารเค็มๆ นอกจากจะต้องลดการสาดน้ำปลา และเกลือลงในอาหารแล้ว ยังมีอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่เราควรลด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเป็นโรคไต
- โชยุ ที่ทานคู่กับปลาดิบ ซูชิ หรือเป็นส่วนผสมของน้ำซุปราเม็ง
- มิโสะ ส่วนประกอบของน้ำซุปในอาหารญี่ปุ่น
- กิมจิ ทานเดี่ยวๆ หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารอย่าง ซุปกิมจิ
- น้ำซุปชาบู สุกี้
- น้ำจิ้มชาบู สุกี้ อาหารทะเล
- น้ำจิ้มอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เนื้อ/หมูเค็ม เนื้อ/หมูแดดเดียว แฮม โลโลน่า ไส้กรอก เบคอน
- อาหารที่มีส่วนประกอบของชีส
- พริกเกลือ กะปิ ที่ขายคู่กับผลไม้สด
- ซอสมะเขือเทศ
- อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ผักกาดดอง
- อาหารหมักดองทุกชนิด
รู้ได้อย่างไร ว่าเราอาจกำลังทานเค็มมากเกินไป?
อาการเริ่มแรกของโรคไต เราอาจสังเกตได้หลังจากทานอาหารที่มีรสเค็มแล้ว เกิดอาการบวม เช่น ขาบวม ตาบวม หรือหลังทานอาหารแล้วรู้สึกหิวน้ำมากกว่าปกติ หลายคนอาจโทษเพียงผงชูรส แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะรสชาติของอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไปด้วย
นอกจากนี้หากสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีฟอง อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังทานเค็มมากเกินไปด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่ทานเค็ม ที่เสี่ยงโรคไต?
นอกจากการทานอาหาร และเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูงแล้ว หากเราอยู่ในเกณฑ์ของคนที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนีกเกินมาตรฐาน ขาดการออกกำลังกาย ทานผักผลไม้น้อย และยังทานอาหารหวานจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เป็นโรคไตได้ด้วยเช่นกัน (นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอาการไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานได้อีกด้วย)
ดังนั้นเราควรลดการบริโภคอาหาร และเครื่องปรุงทุกชนิดที่มีรสจัด ทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่ตลอดเวลา ลดการทานอาหารสำเร็จรูป และทางที่ดีที่สุดคือเลือกปรุงอาหารทานเอง เพื่อควบคุมปริมาณการใช้เครื่องปรุงได้ด้วยตัวเอง