"ต้อหิน" ภัยเงียบที่อาจทำให้สูญเสียดวงตา

"ต้อหิน" ภัยเงียบที่อาจทำให้สูญเสียดวงตา

"ต้อหิน" ภัยเงียบที่อาจทำให้สูญเสียดวงตา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ทำให้เรามองเห็นและเรียนรู้สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ ถ้าต้องสูญเสียดวงตาไปทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อีกคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น  แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลดวงตา ลองถามตัวเองว่าคุณตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เคยตรวจสุขภาพของดวงตาหรือไม่  เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไป  ความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินพบได้ประมาณร้อยละ 1 หมายความว่าในทุก 100 คนทีมีอายุ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสที่จะตรวจพบโรคต้อหิน 1 คน ดังนั้นทุกคนควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน ซึ่งโรคต้อหิน เป็นสาเหตุของตาบอดเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก  แต่โรคต้อหินเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการหรือสัญญาณเตือน จะรู้ตัวว่าเป็นก็อาจสายเกินแก้ แต่ถ้าได้รับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้

ต้อหิน เป็นสาเหตุการตาบอดประเภทที่สามารถป้องกันได้อันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันยังมีประชากรอีกมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต้อหิน ซึ่งจะส่งผลให้การตาบอดจากโรคต้อหินในอนาคตมีมากขึ้น ขึ้น จากการวิจัยคาดว่าประชากรต้อหินทั่วโลกจะมีประมาณ 72 ล้านคนทั่วโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2020 หรือใน พ.ศ.2563)ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้ที่ตาบอดทั้งสองข้างจากต้อหินประมาณ 10 ล้านคนทั่วโลก และกว่าครึ่งเป็นชาวเอเชีย ดังนั้นเราจึงควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคต้อหิน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยตาบอดจากโรคต้อหิน

ต้อหินคือกลุ่มโรคของตาที่ทำให้เกิดการทำลายของเส้นประสาทตาแบบถาวร  สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากความดันตาที่สูงกว่าปกติ โดยทั่วไปค่าความดันตาควรต่ำกว่า 20 มม.ปรอท (ในประเทศไทยมีการสำรวจพบว่าค่าความดันตาเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเซีย เช่นญี่ปุ่น จีน เป็นต้น โดยอยู่ที่ประมาณ 12-14 มม.ปรอท)

หลายคนมีความเข้าใจว่าต้อหินคือการมีหินหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในลูกตา ในความเป็นจริงแล้ว ต้อหินคือการที่ลูกตาเรามีน้ำขังอยู่ในตามากผิดปกติ น้ำในลูกตาเป็นคนละชนิดกับน้ำตาที่หลั่งออกมา เวลาที่เรามีอารมณ์เศร้าเสียใจ น้ำในลูกตานี้เป็นน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของลูกตา แทนกระแสเลือด มีการผลิตและการระบายออกในสัดส่วนที่ต้องเหมาะสม หากไม่สมดุลก็จะส่งผลให้น้ำขังอยู่ในลูกตา เกิดภาวะความดันลูกตาสูง ทำให้ลูกตาที่ปกติควรจะนุ่มเหมือนลูกบอล มีความแข็งตึงเหมือนหิน เราจึงเรียกกันว่าต้อหิน

 

ประเภทของต้อหิน สามารถแบ่งได้หลายวิธี แต่การแบ่งที่นิยมในปัจจุบันคือการแบ่งตามลักษณะของมุมช่องระบายน้ำในตาโดยแบ่งเป็น

  1. ต้อหินชนิดมุมเปิด คือ การที่ความดันตาสูงขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติของการระบายน้ำแต่อาจเป็นเหตุจากการสร้างน้ำมากผิดปกติหรือการมีพังผืดหรือเยื่อหุ้มที่เจริญผิดปกติมาคลุมและขัดขวางทางระบายน้ำในกรณีเช่นนี้ผลตรวจจะไม่พบการตีบแคบของทางระบายน้ำ

  2. ต้อหินชนิดมุมปิด คือ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการตีบแคบของทางระบายน้ำในลูกตา ซึ่งกรณีเช่นนี้การรักษาโดยการเปิดทางน้ำจะได้ผลในแง่ของการลดความดันตาได้ดี และมีโอกาสรักษาโรคต้อหินในหายขาดได้ หากได้รับการรักษาทันท่วงที ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

  3. ต้อหินในเด็ก พบได้ประมาณ 1 ใน 10,000 เกิดจาก ความดันตาที่สูงมากผิดปกติในเด็ก ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ส่วนมากเป็นความผิดปกติของโครงสร้างลูกตาตั้งแต่กำเนิด อาจมีอาการ หยีตาบ่อยๆ น้ำตาไหล หรือสู้แสงไม่ได้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ

 

ทุกคนไม่ว่าอายุน้อยหรือมาก แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว มีโอกาสเป็นโรคต้อหินทั้งสิ้น และความเสี่ยงจะมากขึ้นในผู้ที่มีอายุสูงขึ้น  ซึ่งสามารถประเมินความเสี่ยงของโรคต้อหินได้ดังนี้

  1. อายุมากกว่า 40 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคต้อหินมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น

  2. มีโรคประจำตัว ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ผู้ป่วยโรคข้อ ผู้ที่ต้องรับยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่นยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์ รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้นมาก หรือสายตายาวมากผิดปกติ จะมีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินสูงขึ้น

  3. มีความดันตาสูง ปัจจัยเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงข้อเดียวที่สามารถรักษา และควบคุมเพื่อชะลอการทำลายของเส้นประสาทตาได้ จักษุแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถบอกได้ว่าความดันตาของคุณสูงและกำลังทำลายเส้นประสาทตาของคุณอยู่ เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ การลดความดันลูกตาจะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคต้อหินได้

  4. มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว เช่นเดียวกับโรคต่างๆ หลายโรค โรคต้องหินมักพบได้บ่อยในหมู่เครือญาติ หากพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคต้อหิน คุณจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินสูงขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคต้อหินเสมอไป

  5. มีเชื้อชาติเอเชีย คนเอเชียมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินชนิดมุมปิดมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น เนื่องจากโครงสร้างลูกตาของเรามีแนวโน้มที่จะมีความแคบของช่องระบายน้ำในลูกตาสูงกว่าประชากรในแถบตะวันตก จากการวิจัยพบว่าในแถบเอเซียพบโรคต้อหินมุมปิดได้มากกว่ายุโรปหรืออเมริกาถึง 9 เท่า

  6. มีเชื้อชาติแอฟริกัน คนแอฟริกันมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนทั่วไป 3-8 เท่า นอกจากนั้นคนแอฟริกันอายุ 45-65 ปี มีความเสี่ยงที่จะเกิดการตาบอดจากต้อหินมากกว่าคนผิวขาวในอายุเดียวกันถึง 15 เท่า

 

เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่ไม่มีอาการตามัวหรืออาการเจ็บปวดใดๆ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถทราบว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม ทำให้การรักษาต้อหินเป็นไปได้ยาก และเป็นสาเหตุการตาบอดอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก การวัดสายตาประกอบแว่น การวัดการมองเห็น ไม่เพียงพอสำหรับการประเมินภาวะต้อหิน ดังนั้นการหมั่นพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพตา การวัดความดันตา และตรวจประเมินความผิดปกติของขั้วประสาทตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำเป็นเพียงวิธีเดียวในการป้องกันโรคต้อหิน แล้ววันนี้คุณได้ตรวจสุขภาพตาของคุณแล้วหรือยัง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook