อาหารกับจุลินทรีย์ เคล็ดลับดีๆ ให้ระบบย่อยอาหารแข็งแรง
ในระบบย่อยอาหารของเราทุกคน ล้วนมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่ นั่นก็คือจุลินทรีย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญกับสุขภาพร่างกายของเราอย่างมาก หากจุลินทรีย์ภายในร่างกายเสียสมดุล อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ตั้งแต่ท้องผูก ท้องเสีย ไปจนมะเร็งลำไส้ ซึ่งวิธีดูแลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ให้อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด ไม่ใช่ยา แต่เป็นการกินอาหารที่เราทำอยู่เป็นประจำนั่นเอง
ของหมักดองดีต่อสุขภาพ?
ของหมักดองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิมจิ กะหล่ำปลีดอง มิโซะ(เต้าเจี้ยวบดแบบญี่ปุ่น) ชาหมัก (Kombucha) นมเปรี้ยวเคเฟอร์ (Kefir) ขนมปังเปรี้ยวหรือขนมปังแป้งหมัก (Sour Dough) รวมไปถึงเครื่องดื่มพวกนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต อาหารเหล่านี้ล้วนมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบย่อยของเรา นั่นก็คือ โพรไบโอติก (Probiotic) เนื่องจากกระบวนการในการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ จะมีการเพิ่มของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่ดีระบบย่อยอาหาร ซึ่งนอกจากช่วยเรื่องการย่อยแล้ว ยังช่วยในเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย ช่วยการทำงานของสมอง และช่วยเรื่องลดความอ้วนด้วย ข่าวดีก็คือ สมัยนี้คุณไม่ต้องทำอาหารเหล่านี้ด้วยตัวเองก็ได้ เพราะในห้างร้านหรือซูปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ มีของเหล่านี้แพคสำเร็จให้คุณเลือกซื้อ
แล้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่ะ?
แน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นของหมัก ดังนั้น การจิบไวน์ในปริมาณที่พอเหมาะ มีผลดีต่อระบบย่อยอาหารแน่นอน นอกจากนี้ไวน์แดงยังมีโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ด้วย เราคงรู้กันแล้วว่า สารต้านอนุมูลอิสระ พบได้มากในผักผลไม้ มีคุณสมบัติตั้งแต่ลดการเสื่อมของเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงของมะเร็ง ซึ่งโพลีฟีนอลตัวนี้ ทำงานได้ดีขึ้นเมื่ออยู่กับแอลกอฮอล์ แต่ก่อนจะหันไปกระดกไวน์กันทั้งขวด ต้องบอกไว้ก่อนว่า จุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารนั้นไม่ชอบแอลกอฮอล์ และถ้าดื่มมากไปอาจทำลายตับได้ด้วย
อาหารไฟเบอร์สูงก็ดีเหมือนกัน
ถ้าจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารเป็นเหมือนสวน ไฟเบอร์ก็คือปุ๋ย ดังนั้นการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงจึงมีประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องกินมังสวิรัติเท่านั้นถึงจะได้ไฟเบอร์มาก แต่การเลือกกินให้หลากหลายในทุกประเภทคือคำตอบ เพราะการกินเนื้อร่วมกับผักผลไม้ ถั่ว ธัญพืชหลากหลายชนิด ก็ยังดีกว่ากินแต่สลัดที่มีผักประเภทเดียวกันซ้ำทุกวันๆ
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากหันมาทานอาหารประเภทเส้นใยสูงก็คือ ให้ค่อยๆ เปลี่ยน อย่าเปลี่ยนอาหารทั้งหมดทีเดียว โดยเฉพาะหากคุณมีปัญหาด้านระบบการย่อยอยู่ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดอาการท้องอืด แต่หากคุณเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม จะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าภายในสองสามวัน คุณจะถ่ายได้ง่าย และสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นเป็นตัวบ่งชี้ว่าจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของคุณดีขึ้นแล้ว
แล้วกินพวกแป้งได้ไหม?
ข่าวดีสำหรับสายคาร์โบไฮเดรตก็คือ ในอาหารพวกแป้งอย่างมันฝรั่ง ข้าว พาสต้า มี พรีไบโอติก (Prebiotic) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีสำหรับพวกจุลินทรีย์โพรไบโอติก ซึ่งจะส่งผลให้คุณมีปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน วิธีเพิ่มพรีไบโอติกให้แก่อาหารพวกแป้งก็คือ ปรุงอาหารให้เสร็จ จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปอุ่นร้อนอีกครั้ง หรือจะทานแบบเย็นๆ เลยก็ได้ (แต่วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับข้าว เพราะการทิ้งข้าวไว้อาจก่อให้เกิดแบคทีเรียที่อันตรายต่อสุขภาพได้)
หรือจะอดอาหารไปเลยก็ได้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อคุณอดอาหาร จะมีจุลินทรีย์หลายชนิดพากันมาทำความสะอาดผนังลำไส้ โดยการกินน้ำตาลหรือสิ่งอื่นๆ ที่ติดอยู่ ซึ่งถือเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาสมดุลของภูมิคุ้มกัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าอดอาหารหนักๆ แล้วจะดี เพราะจากการวิจัยพวกว่า สัตว์ที่ถูกทิ้งให้หิวโหยนานเกินไป จุลินทรีย์จะทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ได้ ดังนั้น ให้อดเป็นระยะโดยการทานแค่อาหารที่มีแคลอรีน้อย หรือเว้นให้เกิดช่องว่างระหว่างมื้ออาหาร เพียงเท่านี้จะก่อให้เกิดผลดีมากกว่า
แล้วพวกอาหารขยะหรือ Junk Food ล่ะ กินได้ไหม?
พวกอาหารขยะเป็นศัตรูอย่างดีเลยกับจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหาร จากการทดสอบกับเด็กนักเรียนโดยให้กินอาหารเหล่านี้เป็นเวลา 10 วันพบว่า ความหลากหลายในชนิดของจุลินทรีย์หายไปถึง 40% แถมยังรู้สึกป่วยและทำให้เด็กๆ มีอาการเซื่องซึมอีกด้วย อาจจะเนื่องจากอาหารเหล่านี้มีความหลากหลายทางธาตุอาหารน้อย ไฟเบอร์ต่ำ และส่วนใหญ่เป็นไขมันกับน้ำตาล จึงถูกดูดซึมไปหมดก่อนจะถึงจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหาร ซึ่งนอกจากส่งผลให้หิวง่ายแล้วยังทำให้เคมีในร่างกายแปรปรวนอีกด้วย