เจลล้างมือ ปลอดภัย-ฆ่าเชื้อโรคได้มากแค่ไหน?
ในช่วงนี้ที่โรคท้องร่วงจากไวรัสกำลังระบาดกันอย่างหนัก เจลล้างมือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ถูกแนะนำต่อๆ กันมาว่าให้พกติดตัวเอาไว้ใช้ทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับสิ่งของต่างๆ และหยิบอาหารเข้าปาก ให้คุณสามารถทำความสะอาดมือได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องใช้น้ำเปล่าล้างมือซ้ำ แต่เจลล้างมือเหล่านี้ปลอดภัยต่อร่างกาย และสามารถกำจัดเชื้อโรคบนมือได้ดีเท่ากับการล้างมือด้วยน้ำเปล่าหรือไม่?
ส่วนประกอบของเจลล้างมือ
ปกติแล้วเจลล้างมือมีหลายสูตร แต่ส่วนใหญ่นิยมใส่แอลกอฮอล์ที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างๆ โดยแต่ละแบรนด์อาจจะเลือกชนิด และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป เช่น เอทานอล (Ethanol) ไอโซโพรพานอล (Isopropanol) 1-โพรพานอล (n-propanol) หรือ เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride) นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำ น้ำหอม และกลีเซอรีน (Glycerine) อีกด้วย
เจลล้างมือที่ไม่มีแอลกอฮอล์ก็มีวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะอาจมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้น้อยกว่า แต่ด้วยคุณสมบัติของแอลกอฮอล์ที่ระเหย และแห้งไว จึงทำให้นิยมนำแอลกอฮอล์มาใช้เป็นสูตรของเจลล้างมือที่ต้องมอบความสะอาด พร้อมทำให้มือแห้งไวไม่เหนียวเหนอะได้ง่าย
เจลล้างมือ ฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือไม่?
เจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของเอทานอลระหว่าง 60-80% จะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคได้หลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ป้องกันได้ทันทีหลังการใช้ และป้องกันได้ในระยะเวลานาน แต่ก็ยังมีเชื้อโรคบางส่วนที่แอลกอฮอล์ไม่สามารถจัดการได้
เชื้อโรคที่เจลล้างมือสามารถจัดการได้
เชื้อวัณโรค เชื้อรา เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ที่ทำให้เกิดโรคเริม เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี เชื้อไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรต้า
เชื้อโรคที่เจลล้างมือไม่สามารถจัดการได้
ไวรัสในกลุ่มที่ติดต่อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ และเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) (ที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายหวัด หรือเป็นไข้ แต่ในบางกรณีอาจมีความรุนแรงมากกว่า) นอกจากนี้เชื้อไวรัสที่ให้ก่อให้เกิดอาการท้องเสียบางชนิด ก็ไม่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยเจลล้างมือเช่นกัน
เจลล้างมือ VS น้ำเปล่า
ในกรณีที่ต้องทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือ หรือน้ำเปล่า ด้วยส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในเจลล้างมือ จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคของเจลล้างมือทำได้ดีกว่า แต่ต้องใช้เจลล้างมืออย่างถูกวิธี โดยถูมือด้วยเจลล้างมือให้นานกว่า 20 วินาทีต่อครั้ง จำนวน 2 ครั้ง และปล่อยให้มือแห้งโดยไม่ต้องล้างมือ แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบนมือได้มากถึง 99.99% ภายใน 6-8 นาที
อย่างไรก็ตาม เจลล้างมือก็มีข้อจำกัดในการใช้ หากเป็นมือที่เปื้อนสิ่งสกปรกมาอย่างชัดเจน เช่น เปื้อนคราบสกปรกต่างๆ เปื้อนอุจจาระปัสสาวะ ในกรณีนี้ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า สบู่ และ/หรือตามด้วยเจลล้างมืออีกครั้ง
หากให้เรียงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อการขจัดเชื้อโรค สามารถเรียงประสิทธิภาพในการทำความสะอาดจากน้อยไปมากได้ดังนี้
กระดาษชำระ – น้ำเปล่า – เจลล้างมือ – น้ำเปล่าและสบู่
อันตรายจากเจลล้างมือ
แม้ว่าเจลล้างมือจะมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน และมอบความสะดวกสบายในการทำความสะอาดให้กับใครหลายๆ คน เราสามารถหยิบเจลล้างมือมาทำความสะอาดขณะเดินทาง หรือทานอาหารในที่ๆ ห่างไกลจากแหล่งน้ำ แต่เจลล้างมือก็ยังเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กจากกลิ่นหอมคล้ายขนม ทั้งกลิ่นสตอเบอร์รี่ ส้ม ลูกอม หมากฝรั่ง และลักษณะเจลสีสันสดใส ผสมเม็ดสีๆ หรือกากเพชรวิบวับสวยงาม จึงอาจทำให้เด็กเล็กหยิบทานโดยที่ผู้ใหญ่ไม่ทันสังเกตได้ ดังนั้นควรฝึกให้เด็กเล็กล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าก่อนจะดีกว่า และสอนให้ใช้เจลล้างมือเมื่อโตขึ้น หรือเลือกเจลล้างมือที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่นจะดีที่สุด
ส่วนผู้ใหญ่ที่ใช้เจลล้างมือเป็นประจำ อาจประสบปัญหามือแห้งกร้านได้ง่าย เพราะเจลล้างมือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มาก ดังนั้นอย่าลืมบำรุงมือด้วยครีมทามือที่ผสมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ด้วย
และอย่าลืมว่า หากมีสบู่และน้ำเปล่า วิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคบนมือได้ดีที่สุด