บวมแดงเฉพาะจุดหลังทานยา เสี่ยง “ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ”
ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษากับแพทย์ที่สถานพยาบาล ก่อนสั่งยาแพทย์มักสอบถามเสมอว่า “แพ้ยาตัวไหนหรือเปล่า” หลายคนก็ทราบตัวเองดีอยู่แล้วว่าแพ้ยาตัวไหน แต่คนที่ไม่รู้ก็คงคิดว่าตัวเองทานยาได้ทุกประเภท จนกระทั่งแจ๊คพอตเจอยาที่ตัวเองแพ้ในเวลาต่อมา บางคนอาจแพ้ยาโดยที่ไม่รู้ตัว อย่างในกรณีคนใกล้ตัวของเราที่อายุมากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็เพิ่งทราบว่าตัวเองแพ้ยาชนิดใด และอาการแพ้ยาก็ไม่เป็นผื่นขึ้นเต็มตัวเหมือนที่หลายคนเป็นอีกด้วย
รอยจ้ำแดงที่เคยเกิดขึ้นบริเวณเดิมกับปีที่แล้ว ทำให้เขาสงสัยว่า หรือนี่จะเป็น ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ
ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ
ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ (Fix Drug Eruption) เป็นลักษณะอาการของคนที่แพ้ยาตัวใดตัวหนึ่ง แต่มีลักษณะอาการที่เกิดผื่นบวมแดงในตำแหน่งเดิมๆ ทุกครั้งหลังจากที่ได้รับยาตัวเดิมอีก อาการของผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำสามารถพบได้จำนวน 20% จากจำนวนของคนที่มีอาการแพ้ยาทั้งหมด และอาจพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย
สาเหตุของอาการผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด และอาการผื่น หรือบวมแดงนี้ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ และอาจมีอาการทุเลาลงเมื่อหยุดใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้
ตัวอย่างอาการผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ (Fix Drug Eruption) ที่เกิดอาการบวมแดงที่เดิม เมื่อทานยาที่ทำให้แพ้ตัวเดิม
กลุ่มยาที่เสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ
กลุ่มยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากันชัก ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา (Sulfa drug)
อาการของผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ
ผื่นแพ้สามารถปรากฏขึ้นในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ รอบทวารหนัก มือ เท้า รอบปาก หรือเยื่อบุภายในปาก อาจปรากฏเป็นวงแดงบวมขนาด 0.5-5 เซนติเมตร อาจมีตุ่มน้ำใสๆ มาก่อน หรืออาจไม่มี เมื่อผื่นเริ่มหายจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือน้ำตาลเข้ม ก่อนที่จะค่อยๆ จางลงหากไม่ได้ใช้ยาตัวที่แพ้อีก อาจบวมแดงเฉยๆ หรือมีอาการปวด แสบร้อน หรือเจ็บบริเวณที่มีผื่นได้
นอกจากผื่นแพ้แล้ว บางรายอาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดเกร็งช่องท้อง แต่อาจไม่พบอาการข้างเคียงลักษณะนี้บ่อยนัก
อาการของผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ หลังรับยาที่ทำให้แพ้
หลังรับยาที่อาจทำให้แพ้ ร่างกายจะแสดงอาการหลังทานยาประมาณ 30 นาทีถึง 16 ชั่วโมง ในครั้งแรกอาจใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์กว่าจะแสดงอาการผื่นแพ้ ครั้งแรกอาจแสดงอาการบวมแดงแค่ตำแหน่งเดียว แต่หากมีอาการแพ้ในครั้งต่อๆ มา อาจพบในตำแหน่งเดิม และตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มเติมได้ และอาจมีลักษณะ ขนาด สี จำนวนที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง
วิธีรักษาอาการผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นประจำ
แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยว่าเคยรับยาชนิดใดมาทานในช่วงนั้น หรือเคยมีอาการดังกล่าวเมื่อไร อย่างไร ตรวจสอบอาการ และชนิดของผื่น อาจตัดชิ้นเนื้อตรงรอยโรคเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา เพื่อหาความเป็นไปได้ และจำแนกหาความเสี่ยงของโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น โรคผื่นลูปัสชนิดดิสคอยด์ โรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน
สำหรับผู้ป่วย หากพบผื่นแดง หรืออาการบวมแดงในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ควรปล่อยไว้จนอาการหนักกว่าเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็วที่สุด และเมื่อทราบชนิดของยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว และแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร และคนใกล้ตัวทราบทุกครั้งที่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยด้วย