แปลกแต่จริง! พบฝีในสมอง จากการเลี้ยง “แมว”
สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับทาสแมวทั้งหลายกันเป็นแถม เมื่อพบชายวัย 49 ปี เจ้าของแมว 2 ตัว ตรวจพบฝีในสมอง หลังจากทำความสะอาดกระบะอุจจาระแมวโดยไม่สวมถุงมือเป็นเวลากว่า 9 เดือน สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อจากอุจจาระแมว จนทำให้สุดท้ายเชื้อโรคเข้าไปทำลายเนื้อสมองจนเกิดเป็นฝี
ฝีในสมอง ชนิดท๊อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)
เชื้อท๊อกโซพลาสโมสิส เป็นเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่สัตว์เลี้ยงอย่างแมวอาจได้รับการติดเชื้อต่อมาจากการกินอุจจาระของแมวตัวอื่นอีกที เชื้อนี้จะเติบโตอยู่ในลำไส้แมว โดยที่แมวไม่มีอาการป่วย หรือผิดปกติแต่อย่างใด จากนั้นเชื้อนี้ก็ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ สามารถติดต่อสู่มนุษย์ โดยเชื้อเดินทางเข้าสู่ร่างกายได้จากการใช้มือเปล่าสัมผัสอุจจาระแมว อาจจะเป็นการสัมผัสกับกระบะทรายแมว ทำความสะอาดภาชนะที่ใส่อุจจาระของแมว แล้วไม่ได้ล้างมือ หรือล้างมือไม่สะอาด จากนั้นก็ใช้มือหยิบจับอาหารทาน
อันตรายของเชื้อโปรโตซัวท๊อกโซพลาสโมสิส
เชื้อนี้จะทะลุผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ตา กล้ามเนื้อ ในกรณีที่มีสภาวะภูมิคุ้มกันปกติเชื้อนี้ก็อยู่เงียบๆ ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายของคน แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี เชื้อโปรโตซัวตัวนี้จะแบ่งตัวทำลายเนื้อสมองเกิดเป็นฝีหลายตำแหน่ง จนทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
การรักษาอาการติดเชื้อท๊อกโซพลาสโมสิส
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านไวรัส และยารักษาเชื้อท๊อกโซพลาสมาให้ผู้ป่วยทาน และติดตามอาการเป็นระยะๆ อาการอ่อนแรงน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จนสามารถเดินได้ตามปกติ และขนาดของฝีในสมองก็น่าจะค่อยๆ เล็กลง
ข้อแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์
ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุจจาระของสัตว์เลี้ยงขณะทำความสะอาดกระบะทราย หรือภาชนะมูลสัตว์อื่นๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องสวมถุงมือ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่หลังสัมผัสกับอุจจาระแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเอามือมาจับปาก หยิบอาหารมารับประทาน หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะถ้ารับเชื้อ จะไปติดทารกในครรภ์ อาจแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดอาจผิดปกติ รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้