ผ่อนคลายสายตา แก้ปัญหา "ตาแห้ง"

ผ่อนคลายสายตา แก้ปัญหา "ตาแห้ง"

ผ่อนคลายสายตา แก้ปัญหา "ตาแห้ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผศ.พญ.สุมาลี  หวังวีรวงศ์
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การผ่อนคลายสายตา เป็นการป้องกันโรคตาแห้งที่ได้ผลดี เพื่อให้ดวงตาสดใสอยู่เสมอ เรามีวิธีป้องกันตาแห้งและถนอมดวงตามาฝากค่ะ    

น้ำตาของคนเรานั้น มีประโยชน์ในการช่วยเคลือบและคลุมผิวตาไม่ให้แห้ง หล่อลื่นดวงตาให้เกิดความสบายตา ลดการระคายเคืองทุกครั้งที่เรากระพริบตา และที่สำคัญคือมีสารซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค หากน้ำตาน้อยจะทำให้เกิดภาวะตาแห้ง ส่งผลให้เกิดความไม่สบายตาและตามัว 

อาการตาแห้งมีหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย คือ มีการสร้างน้ำตาลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากขึ้น การรับประทานยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ถูกวิธี ภูมิแพ้ที่ตาหนังตาหรือเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่เคยทำเลสิก ผ่าตัดตา ผู้มีปัญหาหลับตาไม่สนิท ตลอดจนช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้ง ลมแรง  ดื่มน้ำน้อย  การอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ  ก็สามารถทำให้น้ำตาระเหยไปได้เช่นกัน   

 

ดังนั้นการดูแลและป้องกันตาแห้ง ควรดูตามสาเหตุค่ะ 

            - หากต้องใช้สายตาหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ควรพักสายตาทุก 30-60 นาที ด้วยการหลับตา   1-2 นาที กะพริบตาบ่อยๆ 

            - ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ควรใส่นานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน  

            - ผู้ที่ต้องรับประทานยาที่แก้แพ้เป็นประจำ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมช่วย

            - ดื่มน้ำมากๆ

            - หลีกเลี่ยงที่ที่มีลมแรง แต่ถ้าต้องอยู่ในที่ที่อากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมพัด ควรสวมแว่นเพื่อกันแดดและลมที่เป็นสาเหตุทำให้ตาแห้งได้

            - นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา พวกผัก ผลไม้ ปลาหรืออาหารทะเลที่มีกรดไขมันที่จำเป็นหรือโอเมก้า-3 จะช่วยให้น้ำตาระเหยช้าลง

 

อย่างไรก็ตาม เราควรทะนุถนอมดวงตาด้วยการพักสายตาเป็นระยะๆ ไม่ใช้สายตาติดต่อกันนานๆ หลายชั่วโมง และกะพริบตาบ่อยๆ ให้มีน้ำตาเคลือบตาตลอดเวลา เพราะถ้าเราปล่อยให้ตาแห้งมากๆ จะทำให้กระจกตาไม่เรียบใส  ผิวกระจกตาอักเสบ จะทำให้มีอาการระคายเคืองและตาพร่ามัวได้ค่ะ     

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook