นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาเครื่องวัดชีพจรบางเฉียบเทียบผิวหนังได้
อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คิดค้นเครื่องอ่านสัญญาณชีพตรวจวัดสุขภาพขนาดบางเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร ติดเข้ากับหลังมือหรือฝ่ามือให้ความรู้เหมือนไม่ได้สวม แถมสามารถรับ - ส่ง ข้อความ และสัญลักษณ์อีโมจิได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์ทาคาโอะ โซเมะยะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาอุปกรณ์ที่คล้ายกับผิวหนังชั้นที่ 2 มนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการรักษาที่ต้องใช้วิธีดูแลเป็นพิเศษเช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะกับบุคคลที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวมากๆ เกิดจากความร่วมมือกับบริษัทสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นชื่อ ได นิปปอน ปรินติ้ง (Dai Nippon Printing) พร้อมคาดว่าจะออกวางจำหน่ายได้ภายใน 3 ปีนี้
เจ้าอุปกรณ์ดังกล่าวมีความพิเศษคือลักษณะคล้ายผิวหนังอีกหนึ่งชั้นที่มีความบางเพียง 1 มิลลิเมตร ติดกับผิวหนังได้จริง สามารถแสดงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ รวมถึงรับ-ส่งข้อความ และสัญลักษณ์อีโมจิได้ด้วย ติดตั้งง่ายเพียงแปะลงบนฝ่ามือหรือที่หลังมือเท่านั้น เจ้าเครื่องนี้จะเตือนทุกครั้งที่ถึงเวลาคนไข้ต้องกินยา และยังสามารถให้ผู้สูงอายุได้ติดต่อสื่อสารกับลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นได้
โซเมะยะ บอกว่า ผู้ใช้อุปกรณ์นี้ สามารถแชร์ข้อมูลเรื่องยาหรือประวัติการรักษากับแพทย์ประจำตัว โดยแพทย์สามารถสื่อสารโต้ตอบกับคนไข้ได้ และเมื่อแปะแผ่นดังกล่าวบนผิวหนังแล้ว ผู้ใช้จะรู้สึกว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น เมื่อมีข้อความเข้า ผู้ใช้ก็จะรู้สึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ส่งอย่างใกล้ชิด
การคิดค้นดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งในญี่ปุ่น ด้วยการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ที่ช่วยตรวจเช็คสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง และไม่เป็นการรบกวน
สำหรับหน้าจอที่ใช้แสดงผลเกิดจากการจัดเรียงกันของหลอดไมโคร LEDs 16x24 แถว สายไฟที่สามารถยืดหยุ่นได้ พร้อมเซนเซอร์ที่น้ำหนักเบา และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ติดตั้งอยู่บนแผ่นยางเท่านั้น และเนื่องจากอุปกรณ์นี้สามารถยืดขยายได้ ทำให้สามารถแปะลงบนพื้นผิวที่มีรูปทรงซับซ้อน อย่างผิวหนังได้
สุดท้ายโซเมะยะ หวังว่า อุปกรณ์นี้จะนำไปใช้กับนักวิ่งเพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจเช็คระยะการวิ่งได้ หรือใช้สำหรับผู้ใช้แรงงานติดไว้ที่ข้อมือขณะทำงานเพื่อแสดงวิธีการหรือคำแนะนำต่างๆระหว่างปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ตรวจวัดชีพจรนี้จะจัดแสดงโชว์ในการประชุมด้านวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นในเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงสุดสัปดาห์นี้