RSI มหันตภัยของคนทำงาน จากการเจ็บปวดที่เดิมๆ ซ้ำๆ

RSI มหันตภัยของคนทำงาน จากการเจ็บปวดที่เดิมๆ ซ้ำๆ

RSI มหันตภัยของคนทำงาน จากการเจ็บปวดที่เดิมๆ ซ้ำๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไม่นานมานี้ คนรอบตัวค่อยๆ ทยอยเดินเข้าโรงพยาบาลกันเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เห็นพวกเขาเหล่านี้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆ มานาน สุดท้ายก็ต้องจบลงที่การเข้ารับกายภาพบำบัด เนื่องจากการทำงานหนักเกินไป จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ หรือเรียกสั้นๆ ว่า RSI

 

RSI คืออะไร?

RSI (Repetitive Strain (หรือ Stress) Injury) คืออาการบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ ที่เกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้รับบาดเจ็บสะสมเป็นระยะเวลานานจากการทำงาน จากอาการบาดเจ็บปวดเมื่อยเพียงเล็กน้อยในระยะแรก อาจค่อยๆ กลายเป็นอาการปวดรุนแรงจนใช้งานอวัยวะบางส่วนได้ไม่สะดวก ปวดจนต้องพึ่งพายาแก้ปวด ไปจนถึงปวดอักเสบจนต้องพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวด

ในสหรัฐอเมริกาจัดว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับ RSI เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับวัยทำงานมากที่สุด โดยพบผู้ป่วยใหม่ในแต่ละปีราว 300,000 คน เพิ่มสูงขึ้นราว 20% และเป็นสาเหตุที่ทำให้วัยทำงานต้องลาหยุดเฉลี่ย 30 วันต่อปี

 

สาเหตุของ RSI

  1. ใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คียบอร์ด เมาส์ เป็นเวลานาน

  2. ยกของหนักผิดวิธี

  3. นั่งทำงานท่าเดิม หรือท่านั่งไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน

  4. ทำงานในลักษณะที่เกิดการสั่นสะเทือนตลอดเวลา เช่น ใช้จักรเย็บผ้า อุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เครื่องขุดเจาะถนน สว่านเจาะกำแพง ประกอบอาหาร และซักผ้าด้วยมือ เป็นต้น

 

อาการของ RSI

ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดจากการอักเสบของเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ เช่น แขน ข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อศอก แผ่นหลัง ต้นคอ หรือหัวไหล่ รวมไปถึงการใช้สายตาจ้องมองจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปที่ทำให้รู้สึกตาล้า พร่ามัว มองภาพไม่ชัด ไปจนถึงปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตาได้

 

RSI แค่จุดเริ่มต้นของมหันตภัยร้ายแรง

อาการบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความทรมาน เพราะหากยังไม่ปรับเปลียนพฤติกรรมในการทำงาน และไม่รีบรักษาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่โรคภัยที่รุนแรง และรักษายากกว่าเดิมอย่าง โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ กลุ่มโรคเส้นเอ็นยึดหัวไหล่อักเสบ หรือโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน จนต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดใหญ่ได้

 

วิธีป้องกัน RSI หรืออาการบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในบริเวณที่มีอาการ เช่น ปวดข้อมือจากการใช้เมาส์ ปวดคอจากการก้มหน้าใช้คอมพิวเตอร์ หรือปวดหลังปวดแขนจากการยกของหนัก นอกจากนี้ควรเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก 1-2 ชั่วโมง (หรือทุกๆ 30 นาทีถ้าทำได้) สะบัดมือ หมุนคอ หมุนหัวไหล่ ลุกขึ้นเดินไปห้องน้ำ เติมน้ำในแก้ว ล้างมือ ฯลฯ รวมถึงการพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรต่างๆ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมงด้วยการมองไปที่เขียวของต้นไม้เป็นเวลา 1-2 นาที

ท่านั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม ที่จะไม่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยล้า คือการปรับให้ระดับแขนวางอยู่ในระนาบเดียวกันกับคีย์บอร์ด มือที่วางบนคีย์บอร์ดอยู่ในระนาบเดียวกันกับโต๊ะ หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตามองตรงไม่ต้องก้มคอ สามารถวางแขนบนที่พักแขนของเก้าอี้ได้ หลังพิงพนักเก้าอี้ที่รองรับหลังได้ดี ปรับพนักเก้าอี้ให้ตรง ต้นขาบนเก้าอี้ขนานกับพื้น และสามารถวางไหล่สบายๆ ไม่เกร็ง

หากมีอาการปวดเมื่อยหลังจากทำงานไปสักระยะ ลองจับเวลาดูว่าระหว่างที่นั่งทำงานอยู่ จะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเมื่อไร เมื่อได้เวลาคร่าวๆ แล้ว ให้ตั้งเสียงปลุกไว้เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะทำให้ปวดเมื่อย โดยถือว่านั่นเป็นเวลาในการเปลี่ยนอิริยาบถก่อนมีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้น

นอกจากนี้การใช้งานมือทั้งสองข้างเท่าๆ กัน เช่น การถือโทรศัพท์ด้วยมือทั้งสอง ขับรถด้วยมือทั้งสอง ยกของ ถือกระเป๋า ด้วยมือทั้งสองข้าง ก็จะช่วยลดการใช้งานมือข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปจนเกิดอาการปวดเมื่อย หรืออักเสบได้

ที่สำคัญ เมื่อไรก็ตามที่มีอาการปวดเมื่อย อย่านิ่งนอนใจ อย่าฝืนใช้งานอวัยวะเหล่านั้นต่อ ยาทานยาเองมั่วซั่ว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาอย่างถูกวิธีจะดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook