ตอบ 10 คำถาม "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ที่เจอกันได้บ่อย
คุณผู้ชายหลายคนอาจจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ด้วยความเราไม่อาจละเลยไม่ได้ เพราะหากเกิดความเสี่ยงขึ้น ก็หมายความว่าอาการต่างๆ ก็อาจตามมารุมเร้า ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ วันนี้ Sanook! Health เลยขอรวบตึงเป็น 10 คำถามเพื่อให้เราเข้าใจ และรู้วิธีป้องกันโรคนี้กันอีกครั้ง ซึ่งเป็นคำถามที่เจอกันบ่อย สงสัยกันบ่อยมาก
- มะเร็งต่อมลูกหมาก มีอาการอย่างไร ?
- อาการที่จะเกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ
- ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้
- ปัสสาวะต้องใช้เวลานาน ปัสสาวะติดขัด
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ปัสสาวะอ่อนแรง ไม่พุ่งตามปกติ
- อาจเกิดอาการปวดแสบระหว่างที่ถ่ายปัสสาวะ
- ปัญหาจะเกิดกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ หรืออสุจิ
- อาจเกิดอาการปวดบริเวณส่วนล่าง หรือบริเวณต้นขา
ในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ไม่ใช่เพียงโรคเดียวที่ทำให้เกิดอาการอย่างที่กล่าวมา แต่ยังมีโรคอีกหลายโรคที่ทำให้เป็นแบบนั้นได้เช่นกัน อาทิ ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น หากคุณผู้ชายท่านใดที่มีอาการเหล่านี้ ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาโรคที่แท้จริงต่อไป
- เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มีความเสี่ยงอย่างไร ?
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีหนทางรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอยู่มาก แต่ในทางการแพทย์ก็ยังคงไม่แน่ชัดว่าจริงๆ แล้วเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทำไมผู้ป่วยบางรายถึงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่อีกคนซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกลับไม่เป็น
จากการศึกษาพบว่า มีองค์ประกอบบางอย่างที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนี้
- อายุ : มีการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในรายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนในรายที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ยังพบได้น้อยมาก
- ประวัติครอบครัว : หากมีพ่อ พี่ชาย หรือน้องชาย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็มีมากขึ้น
- เชื้อชาติ : ชาวเอเชียอย่างเราๆ ลดความกังวลลงได้ เพราะส่วนใหญ่มะเร็งต่อมลูกหมากจะพบได้ในคนแอฟริกันมากกว่าคนผิวขาว ยิ่งเอเชียก็ยิ่งเจอได้น้อยมากๆ
- เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บางอย่างในต่อมลูกหมาก : หากเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากมีลักษณะ high-grade prostatic ntraepithelial neoplasia (PIN) ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้
- อาหาร : มีการศึกษาและผลการรายงานออกมาว่า การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และไขมันสัตว์มากๆ ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่าการกินอาหารประเภทผัก ผลไม้
- หากไม่มีอาการ ควรเริ่มตรวจและตรวจหาค่า PSA ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?
คนจะป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากใช่ว่าจะต้องมีอาการให้เห็นเสมอไป ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ครอบครัว หรือเครือญาติมีประวัติการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นต้องเข้ารับการตรวจ
- ค่า PSA สูง จะเกิดจากภาวะใดได้บ้าง ?
ทุกวันนี้ การตรวจเพื่อหาค่า PSA จะใช้วิธีการดูดเจาะเลือดเพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และด้วยการใช้วิธีนี้เอง ทำให้แพทย์พบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมากขึ้น โดยเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายได้ ตามปกติแล้ว ค่า PSA ที่สูงไม่ได้เกิดมาจากมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ อาทิ โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากอักเสบ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การใส่สายสวนปัสสาวะ
โดยทั่วไป หากค่า PSA สูงเกิน 10 ng/dl โอกาสที่จะตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมากก็มีมากถึง 50% แต่หากค่า PSA อยู่ที่ระดับ 4-10 ng /dl โอกาสที่จะพบก็อยู่แค่ 20-30% ซึ่งในคนไทยแพทย์จะใช้ค่าที่มากกว่า 4 ng/ml ขึ้นไป
- เป็นต่อมลูกหมากโตแล้ว จะกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ?
โดยปกติ โรคต่อมลูกหมากโตและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะเกิดในผู้ชายสูงวัย อีกทั้งอาการของทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม โรคทั้ง 2 นี้เป็นโรคคนละชนิดกัน จึงไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนสภาพจากโรคหนึ่งไปเป็นอีกโรคหนึ่งได้
- มะเร็งต่อมลูกหมากรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
ไม่ใช่แค่เพียงมะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย หากเป็นในระยะเริ่มแรก ก็สามารถที่จะหายขาดได้ มะเร็งต่อมลูกหมากก็จะอยู่ที่ระยะ 1 และระยะ 2
- มะเร็งต่อมลูกหมาก รักษาได้อย่างไรบ้าง ?
- การผ่าตัด
- การฉายรังสี
- การใช้ฮอร์โมน
แต่จะต้องไม่ลืมที่จะติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
- ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ดีกว่า ผ่าตัดแบบดั้งเดิมอย่างไร ?
ในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้องจะทำผ่านบริเวณผนังหน้าท้อง ซึ่งคาดอีกไม่นานการรักษารูปแบบนี้จะมาแทนที่การผ่าตัดแบบแผลปิด ซึ่งมีข้อดีอยู่หลายอย่าง เช่น เสียเลือดน้อยกว่า เจ็บปวดน้อยกว่า และแผลผ่าตัดก็มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้ง การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องจะทำให้การเก็บเส้นประสาท Cavernous ตลอดจนกล้ามเนื้อหูรูดจะเกิดการบาดเจ็บน้อยกว่า
- การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ คืออะไร ?
การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีการใช้กล้องเจาะผ่านหน้าท้อง นับว่าเป็นวิธีที่แพทย์ใช้การอย่างแพร่หลาย เนื่องจากว่าเป็นวิธีที่ได้รับมาตรฐาน ต่อมา ก็ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ช่วยในการผ่าตัด โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ถือกล้อง และมีแขนเป็นกลไกช่วยในการผ่าตัด ซึ่งง่ายกว่าการผ่าตัดด้วยมนุษย์ ความเหนื่อยของแพทย์จะลดน้อยลง อีกทั้งเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดก็จะน้อยลงด้วย แต่ผลทั่วๆ ไปของการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องและการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ยังไม่มีความแตกต่างด้านการควบคุมมะเร็ง รวมถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ยังจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีกด้วย
- มะเร็งต่อมลูกหมาก ป้องกันได้หรือไม่ ?
เป็นเรื่องยากหากจะบอกว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถป้องกันได้ เนื่องว่าในทางการแพทย์ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็มีวิธีป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ที่ในบางกรณีก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ หากหมั่นรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้เป็นประจำ
- สังกะสี : เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย พบได้มากในเมล็ดฟักทอง และอาหารทะเล อาทิ หอยนางรม
- ไลโคพีน : เป็นสารอาหารในตระกูลแคโรทีนอยด์ พบได้มากในมะเขือเทศ อย่าง ซอสมะเขือเทศ หรือแม้แต่ฝรั่งขี้นก
- เบต้าซิโตสเตอรอล : สารอาหารตัวนี้มีสรรพคุณที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโต พบได้มากในถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี และน้ำมันข้าวโพด
- วิตามินอี : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบมากในรำบดละเอียด น้ำมันรำ ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักกาดหอม เมล็ดทานตะวัน งา น้ำมันถั่วลิสง
อย่างที่บอกไปว่ามะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่พบการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรค แต่ก็มีการพบว่า มะเร็ง มักจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่บริโภคเนื้อสัตว์ มากกว่ากลุ่มที่บริโภคมังสวิรัติ