อาการเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตวัยทำงาน

อาการเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตวัยทำงาน

อาการเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตวัยทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หมายถึง โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร [atypical or extraesophageal GERD]

ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

  1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือCLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น

  2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux: LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด

อาการเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน 

หากท่านมีอาการดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกถึงการมีโรคกรดไหลย้อน ควรมารับการรักษาโดยแพทย์

  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร

- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ (พบน้อย)

- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ

- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ

- เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า

- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)

- มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา

- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ

- รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)

- มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้

  1. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม

- เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม

-ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน

-ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน

- กระแอมไอบ่อย

- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา

- เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)

- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ

  1. อาการทางจมูก และหู

- คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ

- หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู

เมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน  นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และบริเวณท้องอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน และแพทย์อาจ

  1. ทดลองให้ยาลดกรดชนิดproton pump inhibitor (PPI) ขนาดสูง (PPI Test) 
    เช่น omeprazole (miracid®), esomeprazole (nexium®), rabeprazole (pariet®), lansoprazole (prevacid®) เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ แล้วสอบถามอาการหลักที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยรำคาญที่สุด  ถ้าอาการดังกล่าว ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน

  2. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Esophago-Gastro-Duodenoscopy)  
    อาจเห็นการอักเสบอย่างรุนแรง และแผลในหลอดอาหารส่วนปลายเหนือกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากโรคกรดไหลย้อน

  3. ส่งตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหาร และคอหอยส่วนล่าง(Ambulatory 24-Hour Double–Probe pH Monitoring) 
    วิธีนี้ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนโดยตัววัดค่าความเป็นกรด ด่าง ของคอหอยส่วนล่าง มักจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนประมาณ 2 เซนติเมตร (pharyngeal probe)  ส่วนตัววัดค่าความเป็นกรด ด่างในหลอดอาหารจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างประมาณ 5 เซนติเมตร (esophageal probe)  
    เมื่อค่าความเป็นกรด ด่าง ของ pharyngeal probe ต่ำกว่า 5 และค่าความเป็นกรด ด่าง จาก esophageal probe ต่ำกว่า 4  ระหว่างหรือในขณะที่มีกรดไหลย้อนขึ้นมาจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง และระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด ด่าง ดังกล่าว นานกว่าปกติ อาจบ่งบอกว่ามีโรคกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกทรมาน หรือรำคาญ และต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook