ยาลดไขมัน ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือ?
สาวๆ หลายรีบหูผึ่งทันทีที่ทราบว่ามี “ยาลดไขมัน” ที่เราสามารถทานเพื่อช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกายได้ด้วย ดังนั้นสาวๆ จึงอยากทานเพื่อลดความอ้วน ลดน้ำหนัก แต่อันที่จริงแล้วยาลดไขมันใช้อย่างไร เหมาะกับใครบ้าง และมีอันตรายหรือไม่ Sanook! Health นำข้อมูลมาฝากกันก่อนที่จะตัดสินใจพุ่งตรงไปที่ร้านขายยา
ยาลดไขมัน คืออะไร?
ยาลดไขมัน ในที่นี้หมายถึง ยาที่ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด ซึ่งไขมันในเลือด กับไขมันที่เกาะอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ทำให้เราดูอ้วนนั้นไม่เหมือนกัน คนที่มีไขมันในเลือดสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีรูปร่างอ้วนท้วมเสมอไป คนที่มีรูปร่างผอมบางก็สามารถเป็นคนที่มีระดับไขมันในเลือดสูงได้ เพราะไขมันในเลือดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากภายนอกนั่นเอง
ดังนั้น ยาลดไขมัน ไม่ได้มีไว้ให้ช่วยลดไขมันสะสมในร่างกาย แต่ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง หรือไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) นั่นเอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปริมาณไขมันในเลือดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เป็นโรคอื่นๆ ที่อันตรายตามมา เช่น การเกิดการอักเสบของหลอดเลือด มีไขมันสะสมในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน โดยอาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตันก็ได้ เมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก จะทำให้เลือดไหลเวียนไปที่หัวใจได้น้อยลง ช้าลง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือดหัวใจต่างๆ ทำให้เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หน้ามืด เป็นลม จนอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
ไขมันในเลือด มีอะไรบ้าง?
ประเภทของไขมันที่อยู่ในเลือด มีทั้งไขมันดี และไขมันไม่ดี
- คอเลสเตอรอล แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- LDL (low density lipoprotein) ไขมันที่ไม่ดี ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขมัน หลอดเลือด สมอง และหัวใจมากขึ้น
อาหารที่มีไขมัน LDL สูง ได้แก่ อาหารประเภททอด ไขมันสัตว์สูง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลปิ้งย่าง เบเกอรี่ เนยเทียม มาการีน ครีมเทียม ขนมกรุบกรอบต่างๆ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ขัดสี น้ำตาล และกากใยอาหารต่ำ
- HDL (high density lipoprotein) ไขมันดี ป้องกันการอักเสบ และการอุดตันของหลอดเลือด
อาหารที่มีไขมัน HDL สูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันคาโนลา ปลาทะเล เช่น แซลมอน อัลมอนด์ อโวคาโด เป็นต้น
นอกจากการเลือกทานอาหารที่มี HDL แล้ว การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มปริมาณ HDL ในร่างกายได้อีกด้วย
- ไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันที่มาจากอาหารที่เราทาน และจากที่ตับ และลำไส้เล็กเป็นผู้ผลิตออกมา การทานอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ แป้ง (ขาว) และน้ำตาลมากเกินไป รวมไปถึงผลข้างเคียงจากโรคประจำตัวบางโรค เช่น เบาหวาน ไต พฤติกรรมที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และการขาดการออกกำลังกาย เป็นผลทำให้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
ยาลดไขมัน เหมาะกับใคร?
ยาลดไขมัน ไม่ใช่ยาที่เราสามารถหาซื้อทานได้เองตามร้านขายยาทั่วไปราวกับเป็นยาสามัญประจำบ้าน เพราะเป็นยาที่ต้องได้รับการควบคุมการใช้จากแพทย์ เพราะยาลดไขมันเหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไขมันในเลือดสูงจนต้องใช้ยาในการรักษา โดยแพทย์จะสั่งยาให้ผู้ป่วยทานเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน และในช่วงที่หากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็จะต้องรับยาเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ
เมื่อเป็นยาที่รักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการทานยาเพื่อลดความอ้วน ลดน้ำหนัก จึงไม่ควรหายาลดไขมันมาทานเองสุ่มสี่สุ่มห้า นอกจากจะไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายจากการทานยาไม่ถูกขนาด ไม่ถูกชนิด ผลข้างเคียงจากการทานยาลดไขมันร่วมกับยาตัวอื่น เช่น การทานยาลดไขมันร่วมกับยาโรคเกาต์ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท จนกล้ามเนื้ออักเสบ หรือไตวายได้
ปัจจุบันยาลดไขมันแทบจะทุกชนิด มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ดังนั้นประชาชนหลายคนจึงอาจลักลอบซื้อยามาทานเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ หรือเภสัชกร ดังนั้นจึงอยากให้ระมัดระวังในการใช้ยา และเข้าใจการทำงานของยาลดไขมันเสียใหม่ ว่าไม่สามารถใช้เป็นยาลดความอ้วนได้ และต้องได้รับคำแนะนำในการทานยาจากแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น
ยาลดไขมัน เป็นยาชนิดใด?
ยากลุ่ม Statin เป็นยาหลัก ในการรักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถลดปริมาณไขมันตัวที่ไม่ดี ลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มปริมาณไขมันตัวที่ดีได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย
ยาลดไขมัน ทานอย่างไร?
ปกติแล้ว เมื่อแพทย์สั่งยาลดไขมันให้ทาน ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อทานให้ยาลดไขมันตามปริมาณที่เหมาะสม แต่โดยทั่วไปแล้วจะแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เนื่องจากกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน แต่ยาลดไขมันรุ่นใหม่บางชนิด ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น สามารถรับประทานยาเวลาอื่น เช่น หลังอาหารเช้า ได้ ดังนั้นควรรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หากก่อนนอน ลืมรับประทานลดไขมัน แล้วนึกได้ในเวลาเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา เนื่องจากประสิทธิภาพของการลดไขมันโดยรวมจะไม่กระทบมากนัก การรับประทานยาเกินขนาดกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น
วิธีลดไขมันในเลือด (และในร่างกาย)
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
- สำหรับผู้ป่วยที่รับยาลดไขมันจากแพทย์มาทาน ควรรับประทานยาลดไขมันนั้นๆ ต่อไป ไม่ควรหยุดยาเอง
- เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารไขมันต่ำ
- ควบคุมน้ำหนักไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
- ระวังการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่โฆษณาว่าช่วยลดไขมันในเลือด อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา และอาจเกิดผลข้างเคียงได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะ การสูบบุหรี่จะทำให้กระบวนการอักเสบของร่างกายเพิ่มมากขึ้น