คลื่นโทรศัพท์มือถือ ก่อ "มะเร็ง" ได้จริงหรือไม่?
ยังเป็นข้อถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างโรคมะเร็งกับการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ไม่นานมานี้ มีผลการวิจัยจากรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า อาจจะไม่ต้องกังวลถึงขนาดนั้น
จอห์น บูเชอร์ จากสถาบันอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หัวหน้าผู้เขียนรายงานการวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ อธิบายว่า เขาได้ทดลองวางโทรศัพท์มือถือจำนวนมากไว้ใกล้ๆ หนูทดลองต่อเนื่อง 9 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 2 ปีเต็ม
ปรากฏว่า หนูตัวผู้ที่อยู่ในการทดลองครั้งนี้ มีขนาดเนื้องอกที่หัวใจโตขึ้น แต่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างรังสีจากโทรศัพท์มือถือกับเนื้องอกในสมองอย่างที่หลายฝ่ายกังวล และบอกด้วยว่า ด้วยความเข้มข้นของรังสีที่ใช้ทดสอบในหนูทดลองนั้น เป็นระดับที่มนุษย์จะได้รับแค่ในระยะสั้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่หนูทดลองเผชิญอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง
บูเชอร์ ยืนยันว่า การวิจัยนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และได้ทำการทดลองแบบเดียวกันมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ทุ่มเงินไปทั้งสิ้นว่า 25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้เขียนรายงานการวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ บอกว่า รังสีจากโทรศัพท์มือถือ นับเป็นสารก่อมะเร็งอย่างอ่อน และพบในระดับที่ต่ำมาก แต่ก็จัดเป็นสารพิษต่อร่างกายอยู่ดี
หลังผลการวิจัยออกมา มีข้อโต้แย้งถึงประเด็นนี้ โดยนายโอทิส เบราว์ลีย์ หัวหน้าทีมแพทย์จากสถาบันโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา บอกว่า หลังจากได้ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ และมองว่าการจัดสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยรังสีให้หนูทดลองนั้น ไม่ได้สะท้อนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่แท้จริงของมนุษย์
ด้านนายเดวิด คาร์เพนเตอร์ หัวหน้าฝ่ายอนามัยสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก วิทยาเขตอัลบานี บอกว่า การวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องผลกระทบของรังสีจากโทรศัพท์มือถือที่มีต่อก้อนเนื้อในสมอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ เพราะแม้ว่าการใช้โทรศัพท์อาจไม่ส่งผลร้ายแรงเหมือนการสูบบุหรี่ แต่อาจเป็นอันตรายได้หากใช้โทรศัพท์มือถือในระยะยาว