ผลเสียต่อสุขภาพ จากการขาด “วิตามิน”
การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกมื้อ ทุกวัน เป็นเรื่องที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในชีวิตจริงของชาวเมืองที่ค่อนข้างเร่งรีบ ไม่มีเวลาเตรียมอาหารทานเอง ต้องซื้อทานที่ร้านใกล้ที่พัก หรือที่ทำงาน และร้านอาหารก็ไม่ได้มีให้เลือกทานได้ทุกเมนู ดังนั้นการจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอจึงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน
หนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่อาจถูกละเลยไปบ้าง คือ “วิตามิน” ซึ่งวิตามินเองก็มีอยู่หลายชนิด หากร่างกายได้รับวิตามินที่สำคัญๆ ไม่ครบ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวได้เช่นกัน
ผลเสียต่อสุขภาพ จากการขาด “วิตามิน”
วิตามินเอ
วิตามินเอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น มีความสำคัญกับระบบสืบพันธุ์ ผิวพรรณ เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
หากขาดวิตามินเอ จะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ มองเห็นได้ยากในตอนกลางคืน ผิวหยาบกร้าน และเยื่อบุตาแห้ง
แอลฟาแคโรทีน และเบต้าแคโรทีน
แอลฟาแคโรทีน และเบต้าแคโรทีน เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีบทบาทสำคัญในการป้องกันมะเร็ง ช่วยยับยั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคต้อกระจก
หากขาดแอลฟาแคโรทีน และเบต้าแคโรทีน อาจไม่ได้ส่งผลร้ายอะไรโดยตรงมากนัก แต่โอกาสที่จะมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง และโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง หลอดเลือดแดงแข็ง และต้อกระจกก็อาจจะมากกว่าผู้ที่ได้รับแอลฟาแคโรทีน และเบต้าแคโรทีนอย่างเพียงพอ
วิตามินบี 12
วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงป้องกันโรคโลหิตจาง ลดระดับสารโฮโมซิสเทอีนในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท และสมอง
หากขาดวิตามินบี 12 นอกจากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจางแล้ว การทำงานของระบบประสาท และสมองก็อาจลดน้อยลงด้วย
วิตามินซี
สาวๆ หลายคนน่าจะรู้จักวิตามินซีกันดี เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ รักษาบาดแผล และช่วยสังเคราะห์คอลลาเจนที่ผิว ดังนั้นจึงเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว รวมถึงอาหารเสริมสำหรับบำรุงผิวมากมาย แต่นอกจากเรื่องความสวยความงามแล้ว วิตามินซียังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
หากขาดวิตามินซี นอกจากการทำงานของระบบภูมิคุ้นกันจะลดน้อยลงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ผิวซีด แผลหายยาก และอ่อนเพลียง่ายอีกด้วย
วิตามินดี
วิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมจากลำไส้ ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมไปทางไต ลดความเสี่ยงของกระดูกเปราะหักง่าย
วิตามินดีไม่ใช่วิตามินที่ร่างกายของคนไทยขาดกันง่ายๆ เพราะร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดตลอดปีอยู่แล้ว แต่กลับพบว่าคนไทยพร่องวิตามินดีเกือบครึ่ง จากวิถีชีวิตในเมืองที่อยู่ในตึกตลอดเวลา และการหลบเลี่ยงแสงแดด หากพบว่าร่างกายขาดวิตามินดี อาจเสี่ยงต่อภาวะกระดูกเปราะหักง่าย และในผู้สูงอายุ และหญิงวัยหมดประจำเดือน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และภาวะซึมเศร้าได้
วิตามินอี
วิตามินอีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และสมอง เพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง และลดริ้วรอยแก่ก่อนวัย
ปกติแล้วร่างกายไม่ค่อยขาดวิตามินอีจากการทานอาหาร แต่อาจมีปัญหาจากการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ และอาจใช้เวลานานกว่าร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณบอก เช่น สูญเสียการรับสัมผัส และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาในการกลอกตา หรือทรงตัวได้ยาก รวมไปถึงปัญหาผิวหยาบกร้าน เป็นต้น
ไลโคปีน
ไลโคปีนช่วยให้ผิวทนต่อแสงแดด ลดอาการผิวไหม้แดด ช่วยให้ผิวเรียบเนียน ไม่หยาบกร้าน ลดการเกิดริ้วรอย และสำหรับคุณผู้ชาย จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย
หากขาดไลโคปีน อาจทำให้ความแข็งแรงของผิวที่สามารถทนต่อแสงแดดได้น้อยลง และอาจมีความเสี่ยงที่เซลล์จะเสื่อมลงเร็วยิ่งขึ้น
ทองแดง
ทองแดงช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยให้ผิวอ่อนเยาว์ ป้องกันภาวะเลือดจาง ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
หากขาดทองแดง อาจทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ช้าลง มีความเสี่ยงต่ออาการโลหิตจาง อาจทำให้เอนไซม์บางตัวทำงานได้ไม่เต็มที่ จนอาจเกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้
สังกะสี
สังกะสีช่วยสร้างเซลล์ผิวหนัง สร้างอิลาสตินที่ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น ช่วยส่งเสริมการสร้างน้ำย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเสริมสร้างการเจริญเติบโต และความตื่นตัวของสมองอีกด้วย
หากขาดสังกะสี อาจทำให้ผมร่วงง่าย ผิวหนังฟกช้ำได้ง่าย เป็นแผลแล้วหายช้า ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง ขาดความชุ่มชื้น และประสาทรับรสเริ่มด้อยประสิทธิภาพ
จากการสังเกตร่างกายของตัวเอง บวกกับการเจาะเลือดเพื่อตรวจปริมาณวิตามินในร่างกายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้เราทราบว่าเราควรทานอาหารชนิดใดเพื่อเสริมเพิ่มในส่วนของวิตามินที่ขาดหาย หรือมีวิตามินชนิดใดมากเกินไปหรือไม่
ทั้งนี้ การจะทราบว่าตัวเองกำลังขาดวิตามินใดที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายบ้าง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจสุขภาพ และวัดผลให้ชัดเจน ก่อนหาซื้อวิตามินมาทานเอง