เจ็บคอ เสียงแหบ พูดไม่มีเสียง เป็น "กล่องเสียงอักเสบ" หรือไม่?
ผศ.พญ.ฉันทิชา โชติกวณิชย์
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลายหลายคนสงสัยว่า ถ้ามีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ บางเวลาพูดไม่มีเสียง ใช่อาการของโรคกล่องเสียงอักเสบหรือไม่ มารู้จักกับโรคนี้กัน
โรคกล่องเสียงอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดร่วมกับไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองจากการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้เสียงมาก ทำให้เนื้อเยื่อกล่องเสียงที่ รวมถึงสายเสียงเกิดการอักเสบเสียงหาย และมีอาการบวมแดง ส่งผลให้การทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะสายเสียงทำงานไม่ได้เต็มที่ เจ็บ เสียงแหบ และรู้สึกเจ็บเวลากลืน
อาการโดยทั่วไป ได้แก่ ระคายเคืองในคอ เจ็บคอ เสียงแหบ หรือพูดไม่มีเสียง อาจมีอาการไอหรือเสมหะร่วมด้วย กลืนลำบาก หายใจติดขัด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. กล่องเสียงอักเสบแบบเฉียบพลัน พบบ่อยกว่าแบบเรื้อรัง มักมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ รู้สึกกระตุ้นแห้งในลำคอ ไอแห้ง มักมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์
2. กล่องเสียงอักเสบแบบเรื้อรังจะมีเสียงแหบเป็นระยะเวลานาน เค้นเสียงเวลาพูดรู้สึกเมื่อยที่คอ และเหนื่อยง่ายเวลาพูด หากตรวจดูกล่องเสียงจะพบว่า สายเสียงบวมหนา ทั่วๆ ไป สีไม่แดง สายเสียงมีขนาดโตขึ้น เมื่อตรวจสายเสียง โดยเครื่องตรวจการสั่นของสายเสียง จะเห็นชัดเจนว่า เยื่อบุสายเสียงหนามาก สายเสียงสั่นผิดปกติ ไม่เป็นไปตามแบบแผน ส่วนใหญ่มักมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ มักเป็นๆ หายๆ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงและซักประวัติผู้ป่วย หรือสงสัยมีสาเหตุอื่น ก็อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง หลังจากนั้น จะทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ หากเกิดจากเชื้อไวรัส จะให้ยาบรรเทาตามอาการ หากเกิดจากแบคทีเรียก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่เกิดการระคายเคืองก็แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง หากเกิดจากโรคกรดไหลย้อนก็ให้ยาลดกรด และในบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อหรือปุ่มเนื้อของสายเสียงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ ให้พักการใช้เสียงจนกว่าอาการจะทุเลา ดื่มน้ำอุ่นมากๆ งดน้ำเย็น และใช้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และหากมีเสมหะข้นเหลือง เขียว หรือมีเลือดปน กลืนลำบาก หายใจลำบาก มีไข้เกิน 1 สัปดาห์ และมีเสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์ให้รีบพบแพทย์
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล