ร้านมือถือเจอ2เด้งยอดขายฮวบ กำลังซื้อนิ่งสนิท-คนรอ "ไอโฟน5"
ร้านมือถือเจอ 2เด้งยอดขายฮวบ กำลังซื้อนิ่งสนิท-คนรอ"ไอโฟน5"
ไม่น่าเชื่อว่าข่าวคราวการเปิดตัว "ไอโฟน 5" ในสหรัฐอเมริกาที่ขยับจากเดือนตุลาคมมาเป็นกันยายน และคาดหมายกันว่าจะเป็นวันที่ 12 กันยายนนี้จะทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยได้รับผลกระทบไปด้วย จากการชะลอซื้อของผู้บริโภค
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง พบว่า สภาพโดยรวมค่อนข้างเงียบ จากการพูดคุยกับร้านค้าหลายแห่งต่างพูดตรงกันว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีผู้บริโภคมาเดินซื้อสินค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาเลิกงานของทุกวันหรือช่วงวีกเอนด์ ส่งผลต่อรายได้ของร้านค้าด้วย แต่ยังพอไปได้เนื่องจากมีรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์เสริมของสมาร์ทโฟนรุ่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น ซองใส่สมาร์ทโฟนแบบต่าง ๆ และแบตเตอรี่สำรอง เป็นต้น ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะจำเป็นต่อการใช้งานสมาร์ทโฟน
พนักงานขายประจำร้านแห่งหนึ่งกล่าวว่า ได้คุยกับร้านค้าอื่น ๆ ที่อยู่กันมาเป็นสิบปีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยู่มานานยังไม่เคยเห็นมาบุญครองเงียบเท่านี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะหาเหตุผลใดมาอธิบาย แต่เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจไม่ดี, มีห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่น่าเดินมากกว่า หรือแม้แต่การที่แอปเปิลกำลังจะเปิดตัวไอโฟน 5
ขณะที่ผู้ค้าหลายรายให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า การที่ไอโฟนรุ่นใหม่กำลังจะออกสู่ตลาด ทำให้มีลูกค้าเดินเข้ามาสอบถามถึงกำหนดวางตลาดไอโฟนรุ่นใหม่เป็นระยะ เพราะรู้ว่ากำลังจะเปิดตัว ทำให้เกิดภาวะชะลอซื้อเพื่อรอไอโฟนรุ่นใหม่ ส่งผลต่อยอดขายโดยรวมของร้านพอสมควร
ขณะเดียวกันแบรนด์อื่น ๆ ก็ไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเช่นกัน มีเพียงซัมซุง กาแล็กซี่ S3 ทำให้ตลาดไม่คึกคัก
"บรรยากาศที่มาบุญครองค่อนข้างเงียบมาก เทียบต้นปีในแง่ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากขายได้วันละ 3-4 เครื่อง เหลือบางวันขายไม่ได้เลยก็มี"
กลุ่มสมาร์ทโฟนที่ยังคงขายได้ดีมีระดับราคาไม่เกิน 5 พันบาท แบรนด์ที่ครองตลาดยังเป็นซัมซุง ได้แก่ รุ่น Galaxy Y ราคา 4,300 บาท และ Galaxy Pocket ราคา 3,700 บาท ส่วนแบรนด์อื่น ได้แก่ LG รุ่น L3 ราคา 4,900 บาท และแบล็คเบอร์รี่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไป จากเคยเป็นวัยทำงานมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นเน้นราคาถูก คือ รุ่น 8520 ราคา 4,900 บาท
ร้านค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งหนึ่ง กล่าวว่า ที่บางร้านยอดขายตกลงอาจเพราะไม่ปรับตัว เช่น ขายแต่สินค้ามือหนึ่ง ซึ่งมีกำไรต่อเครื่องต่ำมาก 200-300 บาท ปัจจุบันถ้าจะอยู่ให้ได้ต้องปรับมาขายสินค้ามือสอง และบริหารจัดการสินค้าให้ได้ เช่น ยอมลดราคาเคลียร์สต๊อกเพื่อไม่ให้ของค้างนาน ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องกับร้านค้าส่งแบบวันต่อวัน
"ยอดขายโดยรวมในกรุงเทพฯ ขายดีสุดยังเป็นไอโฟน 4S ขนาด 16 GB รองลงมาเป็นแอนดรอยด์ของซัมซุง ส่วนตลาดต่างจังหวัดเน้นฟีเจอร์โฟน ซึ่งมีทั้งซัมซุงและโนเกีย"
ผู้สื่อข่าว สอบถามร้านค้าหลายแห่งที่ขายและรับซื้อโทรศัพท์มือถือมือสอง ได้คำตอบในทำนองเดียวกันว่า เครื่องมือสองที่ขายได้เร็วยังคงเป็นไอโฟน 4S ตามด้วยแอนดรอยด์รุ่นต่าง ๆ สำหรับแบล็คเบอร์รี่มือสองขายไม่ดีนัก เนื่องจากเครื่องมือหนึ่งปรับราคาลงจนถูกมากแล้ว
นอกจากนี้ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ หลายร้านยอมรับว่า ปัจจุบันไม่ค่อยรับซื้อแบรนด์ "โนเกีย" แล้ว เพราะมีปัญหาซื้อมาแล้วสินค้าอยู่หน้าตู้นานมาก หรือบางทีขายไม่ได้เลยทำให้ไม่ค่อยคุ้ม
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ไปสำรวจร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณห้างสรรพสินค้าไอที มอลล์ ฟอร์จูนทาวน์พบว่า บรรยากาศไม่ต่างไปจากมาบุญครอง
ร้านค้าหลายแห่งกล่าวว่า ตลาดค่อนข้างเงียบ ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีนัก ทำให้ผู้บริโภคชะลอซื้อ แต่ก็พยายามเพิ่มทางเลือกเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น มีโปรแกรมซื้อผ่อน 0% รวมถึงมีเครื่องหลายแบรนด์ให้ทดลองใช้งาน
ด้านนายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด และงานขาย กลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ เปิดตัวออกสู่ตลาดเป็นระยะจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดคึกคักและเติบโตขึ้นได้ เพราะจะมีคนนำเครื่องเก่าไปขายเพื่อแลกซื้อเครื่องใหม่ ดังนั้นเมื่อช่วงไหนไม่มีผลิตภัณฑ์ไฮไลต์เปิดตัว
ตลาดก็จะซึม ๆ หน่อย ซึ่งตนมองว่า ในช่วงท้ายปีตลาดรวมจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากจะมีผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ตัวใหม่ ๆ ทยอยเปิดตัว ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนดุเดือดขึ้น
ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยปี 2555 เติบโตมาก หาก "ซัมซุง" และ "แอปเปิล" เปิดตัวสินค้ารุ่นไฮไลต์ภายในปีนี้ คาดว่าจะผลักดันยอดขายเครื่องใหม่ไปถึง 12-14 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านเครื่อง หากเทียบปี 2554 ยอดขายรวมอยู่ที่ 12 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟน 2-5 ล้านเครื่อง
"ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในบ้านเราบิ๊กแบรนด์ซัมซุง, เอชทีซี ครองตลาดระดับกลางถึงบน ส่วนแบรนด์จีนจับกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับล่าง ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็น่าจะครองตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยต่อไปจนถึงปลายปีหน้าเป็นอย่างน้อย การประมูลใบอนุญาต 3 จี คลื่น 2.1 จะทำให้เกิดความต้องการอุปกรณ์มือถือที่รองรับเครือข่าย 3 จีมากขึ้น ช่วยกระตุ้นยอดสมาร์ทโฟนให้มากขึ้นตามไปด้วย"