อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ละลายได้
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ละลายได้
ข่่าวเด่นวันนี้ - ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเบกแมน ในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความเผยแพร่ในวารสารไซน์ซ เปิดเผยถึงความสำเร็จในการคิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ละลายในร่างกายมนุษย์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ รวมถึงสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้
นวัตกรรมใหม่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำงานอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะละลายหายไป ออกแบบโดยทีมวิจัยทีมเดียวกันกับทีมที่คิดค้น "รอยสักอิเล็กทรอนิกส์" หรือ "อิเล็กทรอนิกส์ แทตทู" ซึ่งหมายถึงการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนผิวหนังด้วยวิธีการสัก ซึ่งจำเป็นต้องคิดค้นอุปกรณ์ที่สามารถยืดหยุ่นติดกับผิวหนังของมนุษย์ได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่ตลอดเวลา
ทีมวิจัยของสถาบันเบกแมน อธิบายถึงการละลายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้การควบคุมว่าขึ้นอยู่กับการพัฒนา 2 ด้านคือ การทำให้อุปกรณ์ละลายไปทั้งหมดและกระตุ้นให้เกิดการละลายขึ้น โดยทีมวิจัยใช้สารซิลิคอนที่มีความบางเป็นพิเศษ เรียกว่า "นาโนเม็มเบรน" เป็นส่วนประกอบหลัก นำมาใช้งานร่วมกับแมกนีเซียม ออกไซด์ ซึ่งสามารถละลายในน้ำได้ และใช้เส้นใยไหมเป็นตัวควบคุมความเร็วในการละลายรวมถึงระยะเวลาในการคงรูปของตัวอุปกรณ์
จอห์น โรเจอร์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการเครื่องกล ระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ได้เช่น นำไปใช้เพื่อให้ความร้อนกับแผลจากการผ่าตัด ด้วยการใส่อุปกรณ์ลงไปก่อนปิดแผล เนื่องจากแผลผ่าตัดดังกล่าวต้องการความร้อนในช่วงวิกฤตราว 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย นอกจากนี้อุปกรณ์ดังกล่าวอาจนำไปใช้เป็นอุปกรณ์จ่ายยาในปริมาณคงที่ จากภายในร่างกายของผู้ป่วยเอง หรือสร้างเป็นตัวตรวจจับคลื่นสมองหรือการเต้นของหัวใจ เรื่อยไปจนถึงการสร้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้มีการทดลองในห้องปฏิบัติการ ด้วยการสร้างกล้องดิจิตอลขนาด 64 พิกเซล รวมถึงเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและเซลล์แสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จมาแล้ว
ที่มานสพ.มติชน