ค่ายมือถือแบ่งเค้ก 3G ลงตัว ภารกิจเพื่อใครของ "กสทช."
ค่ายมือถือแบ่งเค้ก 3G ลงตัว ภารกิจเพื่อใครของ "กสทช."
เพิ่งจบไปหมาด ๆ สำหรับการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ "กสทช." เมื่อ 16 ต.ค. 2555เป็นการเปิดประมูลใบอนุญาตแบบม้วนเดียวจบในวันเดียว บทสรุปก็เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการประมูลและผู้เข้าแข่งขัน
เงื่อนไขไม่เอื้อแข่งกัน
เงื่อนไขที่ระบุว่า แต่ละบริษัทมีสิทธิ์ถือครองคลื่นได้ไม่เกิน 15 MHz ปรับลดจากเดิมที่กำหนดไว้ 20 MHz ด้วยเหตุผลว่าป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้คลื่น 5 MHz ที่ส่งผลต่อคุณภาพบริการ มีคลื่น 45 MHz ถ้ามีสิทธิ์ถือครอง ได้ไม่เกิน 15 MHz แบ่ง 3 ได้ 15 MHz พอดีเป๊ะ
ให้บังเอิญที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพื่อเข้าประมูลใบอนุญาตใหม่คลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz เพียง 3 ราย คือบริษัทในเครือยักษ์มือถือ "เอไอเอส ดีแทค และทรู"
เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ไม่ว่าจะแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายเพื่อชิงสิทธิ์ในการเลือกแถบคลื่น (ผู้ชนะที่เสนอราคาสูงสุดจะมีสิทธิ์เลือกแถบคลื่นก่อน ถ้าเสนอราคาเท่ากันจะจับสลากว่าใครจะได้เลือกก่อน) แต่ละเจ้าก็ยังคงมีสิทธิ์ได้คลื่นไม่เกิน 15 MHz อยู่ดี
ถามว่า จะแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายไปเพื่ออะไร ยิ่งไม่มี "N-1" (ข้อกำหนดที่ระบุว่าจะจัดสรรใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบ) ด้วยแล้ว
นั่นเป็นสาเหตุที่ เมื่อ "กสทช." ตัดสินใจปรับลดการถือครองเหลือแค่ 15 MHz เสียงวิพากษ์เกี่ยวกับ "ราคา" ตั้งต้นประมูลจึงดังกระหึ่มขึ้นโดยพลัน หลายฝ่ายมองว่า ควรปรับ "ราคา" ตั้งต้นให้สูงกว่า 4,500 ล้านบาท เมื่อเงื่อนไขไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น
ก่อนหน้านี้ "กสทช.-เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ประธานด้านกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โต้โผใหญ่ในการดำเนินการประมูล พยายามให้ความเชื่อมั่นว่า ผู้เข้าประมูลจะมีการแข่งขันเพื่อเลือกแถบคลื่นความถี่ เพราะทางเทคนิค ความถี่แต่ละสลอตมีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป แต่ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็อย่างที่เห็น"มือถือ" แข่งราคาแบบเสียไม่ได้
การประมูลวันที่ 16 ต.ค. 2555 เริ่มเวลา 10.00 น. จบลงในเวลา 16.00 น. ประมูลทั้งสิ้น 7 รอบ
สื่อมวลชนทุกแขนงแห่แหนไปรายงานการประมูล 3G เฉพาะจำนวนสื่อรวมผู้สังเกตการณ์ที่มาลงทะเบียนทะลุครึ่งพัน ทำให้บรรยากาศการประมูลคึกคักเป็นอย่างยิ่ง
แต่หลังจากเข้าสู่ชั่วโมงที่ 3 หรือรอบที่ 3 สิ่งที่หลายคนคาดไวก็เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ แต่ละเจ้าไม่ได้แข่งกันเสนอราคาเพื่อช่วงชิง "โอกาส" ในการได้เลือกแถบคลื่นความถี่ 45 MHz แบ่งเป็น 9 สลอต สลอตละ 5 MHz นั้น 6 ใน 9 สลอต จบลงที่ราคาตั้งต้น (4,500 ล้านบาท)อีก 3 สลอต "เคาะราคา" เพิ่มขึ้น แค่ 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง โดยปิดที่ "4,725 ล้านบาท" 1 สลอต (เพิ่ม225 ล้านบาท เท่ากับเคาะ 1 ครั้งหรือ 5% จากราคาตั้งต้น) อีก 2 สลอตปิดที่ 4,950 ล้านบาท เพิ่ม 500 ล้านบาทต่อ 5 MHz หรือเคาะ 2 ครั้ง
แถบคลื่นสำคัญไฉน ?
เมื่อสิ้นสุดการประมูล "กสทช." เปิดเผยผลการประมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทเอดับบลิวเอ็น ในเครือเอไอเอส เสนอราคาประมูลสูงสุดเป็นเงิน 14,625 บาท จึงได้สิทธิ์เลือกแถบคลื่นความถี่ก่อน "เอดับบลิวเอ็น" ตัดสินใจเลือกช่วงคลื่นที่ "กสทช." เคยบอกว่า แย่ที่สุดในเชิงทฤษฎี (ชุดที่ 7)
อย่างไรก็ตาม แถบคลื่นดังกล่าวอยู่ติดกับคลื่น 3G ของ "ทีโอที" ซึ่ง "กสทช." พยายามอธิบายว่า การรบกวนกันของคลื่นเป็นสิ่งที่ปรากฏในทฤษฎีในตำราวิศวกรรม แต่การตัดสินใจเลือก "แถบคลื่นความถี่" อาจพิจารณาจากเหตุผลอื่นประกอบกัน หรือเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจของแต่ละบริษัท
เช่นกันกับกรณีของเรียล ฟิวเจอร์ ในเครือทรู เสนอราคาเท่ากันกับดีแทค เนทเวอร์ค ในเครือดีแทคใช้สิทธิ์แค่ยืนราคาเท่าราคาตั้งต้น ก็ได้คลื่น 15 MHz ราคา 13,500 ล้านบาท
เมื่อเสนอราคาเท่ากัน จึงต้องจับสลากว่าใครมีสิทธิ์ได้เลือกแถบคลื่นก่อน สิทธิ์นั้นตกเป็นของกลุ่มทรู ปรากฏว่าทรูเลือกช่วงคลื่นที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งว่ากันว่าดีน้อยที่สุด ปล่อยให้ "ดีแทค" ได้แถบคลื่นที่ดีที่สุดไปโดยไม่ต้องออกแรงทำอะไร !
"ตามทฤษฎีที่ผมเรียนมา ใคร ๆ ก็อยากได้คลื่นที่ดีที่สุดไปใช้แต่อาจใช้ไม่ได้กับเรื่องนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้โอเปอเรเตอร์เลือกช่วงคลื่นแบบนี้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ" เศรษฐพงค์พูดถึงการเลือกแถบคลื่น
อยู่เฉย ๆ ก็ได้ ทำไมต้อง "ฮั้ว"
บทสรุปการประมูลคลื่นได้ในราคาที่ต่ำแสนต่ำ (ถ้าเทียบว่าขยับไปไกลกว่าราคาตั้งต้นแค่ 2.8%) ทำให้คนนึกถึงคำว่า "ฮั้ว" ขึ้นมาโดยพลัน
ใคร "ฮั้ว" ใคร และทำไมต้อง "ฮั้ว"
"พาวเวอร์ ออกชั่น" ที่ปรึกษาการประมูลของ "กสทช." บอกว่า ยืนยันว่าผลการประมูลสอดคล้องกับการแข่งขัน และไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่ามีการฮั้วประมูล การที่อีก 2 รายไม่ได้ให้คุณค่ากับการเลือกย่านความถี่สูงเพียงพอ หรือคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถเสนอราคาสูงสุดได้หรือแม้จะเสนอสูงกว่า สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก็จะเป็นเหมือนเดิม
หมายความได้หรือไม่ว่า อีกสองเจ้าไม่เห็นความสำคัญของการเลือกแถบคลื่นอยู่แล้ว เมื่อเงื่อนไขประมูลที่เคยบีบหัวใจอย่าง "N-1" ไม่มีแล้ว ราคาตั้งต้นที่ 4,500
ล้านบาท เคยบอกว่า "ไม่ถูก" แค่ยืนราคาเดิมก็ได้คลื่น จะจ่ายแพงไปทำไม บังเอิญว่า "ทรู" คิดตรงกับ "ดีแทค" ผลการประมูลจึงออกมาอย่างที่เห็น เบ็ดเสร็จแล้วความถี่อันเป็นทรัพยาการของชาติ 45 MHz ย่าน 2.1 GHz "กสทช." ตีจัดสรร ได้เงิน 41,625 ล้านบาท มากกว่า "ราคาตั้งต้น" 1,125 ล้านบาท หรือ 2.8%
"ถ้าตั้งราคาสูงกว่านี้คนที่จะเข้ามาแข่งขันอาจไม่มีเลยก็ได้ นั่นถือว่าเป็นความล้มเหลวของ กสทช. แต่ก็ยังมีคนเอาเรื่องนี้ไปฟ้อง อ้างผลวิจัยจุฬาฯ วิเคราะห์มูลค่าคลื่น 6,440 ล้านแต่ไม่อ่านเอกสารให้ครบว่า ทางนั้นให้ตั้งราคาไม่เกิน 67% หรือ 4,314 ล้านบาท ซึ่งเราเปลี่ยนเป็น 70% หรือ 4,500 ล้านบาท จึงไม่กลัวว่าใครจะฟ้อง มีหลักฐานยืนยัน ไม่ว่าจะเรื่องฮั้วหรือราคาตั้งต้น" ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมายสำทับเพิ่มเติม
กสทช. เสียงแตก-TDRI จวกเละ
ไม่ใช่ว่า "กสทช." ทั้งหมดจะเห็นด้วย "น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ยอมรับว่า เป็นไปตามคาดว่าจะไม่มีการแข่งขันราคาอย่างที่ควรจะเป็นเข้าอีหรอบนี้ ต้องจับตาดูอีกชอตว่า ในการประชุมบอร์ด "กทค." เพื่อรับรองผลการประมูลจะเป็นอย่างไร
"ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กทันทีเมื่อการประมูลสิ้นสุดลงว่า ผลการประมูล 3G เป็นไปตามที่คาดหมาย คือ ได้ราคาเพิ่มจากราคาตั้งต้นเล็กน้อย คือร้อยละ 2.8 เพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบที่ 40,500 ล้านบาท เป็น 41,650 ล้านบาท โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น
"การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมี 3G ใช้เต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี เมื่อเทียบราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ เสมือน "ลาภลอย" ไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญการที่แต่ละ
รายได้คลื่น 3G ต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านไม่มีผลต่อค่าบริการ 3G ที่ประชาชนต้องจ่าย นอกจากเพิ่มกำไรผู้ถือหุ้น"
"ดร.สมเกียรติ" ระบุด้วยว่า ผลการประมูลชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่ กสทช.พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาตลอดว่าจะมีการแข่งขันมาก เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดแตกต่างกันมาก เสมือนเป็นที่ดินทำเลดีติดทะเล กับที่ดินแออัดติดถนนใหญ่ ไม่เป็นจริง ย้ำความเชื่อของสาธารณชนในวงกว้างที่ว่า การประมูลมีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ
"ต้องการเรียกร้องให้ กสทช.รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชน ให้แถลงต่อประชาชนว่า จะรับผิดชอบอย่างไร"
ไม่ใช่มีแต่ "ดร.สมเกียรติ" ที่ตั้งคำถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจาก "กสทช."
"พ.อ.เศรษฐพงค์" กล่าวว่า ได้รับแรงกดดันจากราคาที่แพงไปบ้าง และถูกไปทั้งสองฝั่งที่เห็นต่างกันก็จะมีความเห็นต่างกัน แต่ก่อนดำเนินการตั้งวัตถุประสงค์ก่อนว่า ต้องการจัดสรรคลื่นให้ได้บนหลักเกณฑ์ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ได้ตั้งว่าจะนำเงินเข้ารัฐสูงที่สุด
"ถ้าเรารักษาหน้าตนเอง กำหนดราคาให้สูงเพื่อทำเงินเข้ารัฐ ถามว่าทำแบบนั้นถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์ในตลาดจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงจำเป็นต้องก้มหน้าก้มตาให้คนวิจารณ์ต่าง ๆ รอวันสร้างโอเปอเรเตอร์แก้ปัญหาที่จะหมดสัมปทานอยู่แล้วให้ได้ ผมทราบดีกว่าต้องเจ็บปวด แต่ก็คิดว่าเราอาสามาทำงาน" เศรษฐพงค์ย้ำ ถ้าอาสามาทำงานไม่กลัวเสียงวิจารณ์ ก็คงไม่กลัวการตรวจสอบด้วย เพราะจากนี้ไปคงไม่ใช่แค่การวิจารณ์อย่างแน่นอน