แบ่งคลื่น "3G" จบแล้ว อะไรที่ยังไม่จบ...
แบ่งคลื่น "3G" จบแล้ว อะไรที่ยังไม่จบ...
เป็นครั้งแรก ๆ หลังประมูล 3G ผ่านพ้นไป ที่โต้โผจัดประมูล "พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" มานั่งถกบนเวทีสาธารณะกับ 2 นักวิชาการที่ชี้จุดอ่อนการประมูล 3G และเรียกร้องให้ กสทช.ยืดอกรับผิดชอบ ทั้ง "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ "อนุภาพ ถิรลาภ" นักวิชาการอิสระ ซึ่ง 2 นักวิชาการเห็นตรงกันว่า กระบวนการคิดราคาของ กสทช.มีปัญหา โดย "ดร.สมเกียรติ" ชี้ชัดว่า ตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณราคาตั้งต้นของทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มูลค่าคลื่นต่ำกว่าความเป็นจริง 27.2% ทั้งการเลือก 67% ของมูลค่าคลื่นไม่สมเหตุสมผล เป็นราคาที่เหมาะสมเมื่อมีผู้แข่งขันมากกว่านี้
จริงอยู่ที่ กสทช.มีหน้าที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผลประโยชน์ประเทศ แต่จุดสมดุลเกิดขึ้นได้ด้วยการผลักการประมูลที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ เมื่อ กสทช.รู้ว่า มีผู้เข้าร่วมประมูลแค่ 3 ราย ควรกำหนดราคาตั้งต้นให้สูงขึ้น
"ปัญหา การประมูลนี้คือการกำหนดราคาตั้งต้นให้สัมพันธ์กับกฎเกณฑ์ในการประมูล ราคาที่ กสทช.เลือกทำให้เกิดการแข่งขันได้จริง เมื่อมีผู้เข้าประมูล 7 ราย ถ้ามีแค่ 3 ต้องเริ่มสัก 5 พันล้านต่อสลอต ทุกคนรู้ว่า กทค. 4 คนเป็นเสียงข้างมากเกือบทุกเรื่อง คณะอนุกรรมการที่ดำเนินการต่าง ๆ กทค.เป็นคนตั้งตามโควตา ขอยืนยันว่า ที่มาท้วงติง ก็อยากใช้ 3G อยากให้อุตสาหกรรมพ้นจากสัมปทาน แต่ถ้ารัฐเสียหายเป็นหมื่นล้าน ต้องมีคนรับผิดชอบ"
ขณะที่ "อนุภาพ" กล่าวว่า การเลือกตัวแปรมาใช้ในงานวิจัยต้องรวบรวมจากข้อมูลทุกแหล่ง ไม่เช่นนั้นราคาตั้งต้นจะอิงตามกลุ่มตัวแปรที่เลือกใช้ เมื่อนำมูลค่าคลื่นของไทยมาเทียบจึงเห็นว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า
"ตลาด ที่ผูกขาดอย่างบ้านเรา เมื่อไม่มีทั้งข้อกำหนดทางเทคนิคและข้อกำหนดค่าบริการ และยังประมูลคลื่นได้ในราคาต่ำ ก็ไม่ได้ส่งผลใด ๆ กับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย เพราะโอเปอเรเตอร์เก็บกำไรส่วนเกินไว้เอง ไม่ได้นำมาลดค่าบริการให้ผู้บริโภค"
ข้ออ้างของ กสทช.ที่บอกว่า การปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎเกณฑ์การประมูลทำให้เกิดความล่าช้าเพราะต้องเริ่ม ประชาพิจารณ์ใหม่ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเงื่อนไขการประมูลระบุว่า สงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้
"พ.อ.เศรษฐพงค์" ยืนยันว่า การเตรียมการประมูล มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายที่เห็นต่างกัน แต่บางส่วนไม่สามารถทำได้จริง เพราะกฎเกณฑ์ที่ประกาศออกมาแล้ว หากแก้ไขต้องเริ่มต้นประชาพิจารณ์ใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนการประมูลออกไปอีก
"กสทช.ไม่ ได้ยืนอยู่บนเอกสารวิจัยทางวิชาการเท่านั้น ทุกอย่างต้องอยู่ในโลกความจริง ไม่ใช่อยู่กับอุดมคติทั้งหมด ต้องดูสภาพอุตสาหกรรมด้วย การออกแบบการประมูลที่ดีต้องให้ทุกกรณีเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ล็อกให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง"
จนถึงวันนี้ก็ชัดเจนว่า การทำงานของ กสทช.ไม่มีข้อผิดพลาดเพราะจัดสรรคลื่นจนหมด มีหลักวิชาการรองรับชัดเจน และใช้วิธีการที่หลายประเทศทำกัน แต่มีเงื่อนไขมากมายที่ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบได้
"กสทช.ก็ ต้องรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เวลานี้ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่รู้ว่าต้องออกมายอมรับผิดชอบในประเด็นไหน เพราะเชื่อว่าได้ทำทุกอย่างตามกรอบกฎหมายแล้ว"
ประธาน "ทีดีอาร์ไอ" ย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐนอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
"ของ บางอย่างเป็นของที่พึงต้องสำนึกได้เอง แต่เวลานี้แล้ว กทค.ยังเห็นว่า ทุกอย่าง ไม่มีปัญหา ไม่ได้บทเรียน น่าหนักใจสิ่งที่จะเกิดกับการประมูลครั้งหน้า โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจของ กทค. ซึ่งพิสูจน์จากครั้งนี้แล้วว่า วิเคราะห์ตลาดผิดพลาด"