จุดพลุ 4G เปิดทางผนึกพันธมิตร อนาคต "ทีโอที" ฝากไว้ในมือใคร
จุดพลุ 4G เปิดทางผนึกพันธมิตร อนาคต "ทีโอที" ฝากไว้ในมือใคร
สัปดาห์ ที่ผ่านมา บมจ.ทีโอทีจัดทริปเชิญสื่อมวลชนไปถึงแดนปลาดิบเพื่อไปเยี่ยมชมกิจการของ ยักษ์มือถือมือวางอันดับ 3 ในญี่ปุ่น "ซอฟต์แบงก์" ซึ่งถือว่ากำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในสมรภูมิธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโลกอีก ด้วย หลังบุกไปเทกโอเวอร์กิจการของ "สปรินต์" ยักษ์มือถือในอเมริกาเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ทำให้ "ซอฟต์แบงก์" เขย่งก้าวกระโดดครั้งสำคัญ จากอันดับ 3 ในญี่ปุ่น (รองจากเอ็นทีที โดโคโม และเคดีดีไอ) ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยจำนวนฐานลูกค้า 400 ล้านรายทั่วโลก (เดิมมี 300 ล้านราย รวมฐานลูกค้าของสปรินต์ในอเมริกาอีก 100 ล้านราย)
บอร์ดชุดเก่า นำโดย "พันธุ์เทพ จำรัสโรมรัน" อดีตประธานบอร์ด บมจ.ทีโอที พยายามผลักดันให้ "ทีโอที" ลงเอยเป็นพันธมิตรกับ "ซอฟต์แบงก์" แต่ยังไม่ทันทำอะไรก็มีอันหลุดออกจากเก้าอี้ จึงต้องรอดูนโยบายบอร์ดชุดใหม่
ความร่วมมือระหว่าง "ทีโอทีและซอฟต์แบงก์" ณ ขณะนี้จึงมีเพียงด้านเทคนิค ในแบบที่ "ดร.มนต์ชัย หนูสง" รักษาการซีอีโอ บมจ.ทีโอที บอกว่า "เป็นความร่วมมือในเชิงวิชาการ" (เท่านั้น) เพื่อพัฒนาธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากซอฟต์แบงก์เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G (เทคโนโลยี LTE) ในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ ตาม "ซอฟต์แบงก์" เพิ่งปิดบิ๊กดีลกับ "สปรินต์" ไป ทำให้ภายในปีนี้ปีหน้าคงหันไปเพิ่มโฟกัสการทำตลาดในอเมริกาเป็นหลัก ถึงแม้ "จูนิชิ มิยากาวา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยี "ซอฟต์แบงก์ โมบาย คอร์ปอเรชั่น" จะเอ่ยปากว่า สนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยเช่นเดียวกับที่สนใจเข้าไปในลาวและกัมพูชา เพราะมองว่า มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หลังได้ขยายการลงทุนไปในประเทศจีน, อินเดีย และอินโดนีเซียแล้ว
"เมื่อตลาดในญี่ปุ่นเริ่มเต็ม การจะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้ คือการขยายไปยังส่วนอื่นของโลก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของเรา ทั้งโดยการเข้าไปซื้อกิจการและเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีวิสัยทัศน์ว่า จะผลักดันบริการให้ครอบคลุมประชากรทั้ง 7 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นไปได้ในอีกสิบปีข้างหน้า"
ปัจจุบัน มีรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคม ประมาณ 7 หมื่นล้านเหรียญ มีทั้งธุรกิจฟิกซ์ไลน์, อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ 2G ยัน 4G
โดยธุรกิจดั้งเดิมของ "ซอฟต์แบงก์" คือการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้เวลา 12 ปี ในการขยายอาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคม จากที่ไม่เคยมีรายได้จากธุรกิจนี้เลย "มิยากาวา" พูดด้วยความภูมิใจว่า บริษัทมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก
ด้วยความที่ "ซอฟต์แบงก์" พัฒนาบริการไปไกลกว่าถึง 4G (ความเร็วสูงสุด 110 Mbps) จึงเหมาะที่จะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ "ทีโอที" ทั้งในแง่มุมเทคโนโลยี การพัฒนาบริการ และการเตรียมระบบรองรับการใช้ดาต้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ จากความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟน รวมเข้าถึงกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ก และคลาวด์คอมพิวเตอร์
ผู้บริหาร "ซอฟต์แบงก์" ถึงกับเอ่ยปากว่า สำหรับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต, เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์อาจมอง "คลาวด์" (Cloud แปลว่า ก้อนเมฆ) เป็นท้องฟ้าที่แจ่มใส เพราะเป็นผู้ใช้บริการ แต่สำหรับผู้ให้บริการ "Cloud" ถือเป็น "ก้อนเมฆสีดำ" เพราะนอกจากจะโหลดทราฟฟิกมากแล้วยังเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าทุกปี
"สิ่ง ที่ผู้ให้บริการต้องเจอในอนาคตคือ ดาต้าสึนามิ ไม่ว่าช้าหรือเร็ว ซึ่งเราเจอมาก่อนแล้ว การขจัดปัญหาทราฟฟิกที่มีมหาศาลทำได้โดยลดขนาดเซลล์ไซต์ลดระบบสัญญาณรบกวน ระหว่างสถานีฐาน ซึ่งปัจจุบัน LTE ตอบโจทย์เหล่านี้ได้"
ไม่ต้องแปลก ใจถ้า "ซอฟต์แบงก์" จะเชียร์ 4G บน LTE เพราะเป็น 1 ใน 5 ผู้ก่อตั้ง กลุ่ม Global TD-LTE ร่วมกับไชน่า โมบาย, บาติแอร์เทล, โวดาโฟน และทีโมบาย
"ซอฟต์แบงก์" แนะนำด้วยว่า ถ้ายังไม่ได้ลงทุน 3G มากนักอาจก้าวข้ามไปยัง 4G-LTE ได้เลย
ทริ ปนี้ "ทีโอที" ยังพาไปฟังผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม "โนเกีย ซีเมนส์" ด้วย ผู้บริหารโนเกีย ซีเมนส์ บอกว่า สิ่งที่เทคโนโลยี LTE ทำให้เป็นไปได้คือ บริการแปลภาษาแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเปิดบริการในญี่ปุ่นต้นปีหน้า แม้ยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่ถือเป็นบริการที่น่าตื่นเต้นมาก
ขณะที่ การประมูลใบอนุญาต 3G ยังชุลมุน ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง "ลาว" ก็ประกาศเปิดให้ใช้ 4G แต่ในบ้านเรา แค่ 3G ยังเพิ่งเตาะแตะ
โดย เฉพาะ "3G ทีโอที" ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะลงทุนก่อนใคร แต่คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า สูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปมากต่อมากโดยไม่มี "ใคร" ต้องรับผิดชอบ
ด้วยความที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด อนาคต "ทีโอที" จึงไม่ได้อยู่ในกำมือของตนเองเท่าไร ดูจากการสรรหา "ซีอีโอ" ตัวจริงที่ไปไม่ถึงไหนแม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว
การยื่นใบลาออกของ "ซีอีโอ" คนเก่าก็ไม่ต่างกันนัก
ใน ฐานะผู้กำกับดูแลโดยตรง "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รัฐมนตรีไอซีที หลังปรับ ครม.ครั้งล่าสุดในรัฐบาลปู 3 ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ยอมรับว่า บริการ 3G ของทีโอทีไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบถ้วน เพราะเป็นแค่ 3G เฟส 1
"เราต้องทำให้สิ่งที่เราเดินไปก่อนหน้าคนอื่นให้มีความก้าวหน้า และไม่ยึดติดกับการให้บริการ 3G"
พร้อม กับขยายความคำพูดของตนว่า การขยายโครงข่าย 3G เฟส 2 จะไม่ใช้คำว่า "3G" อีกต่อไป แต่จะเรียกว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เฟส 2 เพราะเทคโนโลยีไม่ได้หยุดที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้บริการ 4G ได้
"ปี หน้ารายได้สัมปทานต้องส่งเข้าคลังใครที่มองว่าทีโอทีเสียหายอาจต้องมองใหม่ ว่า ทีโอทีเอง รวมถึง กสทฯสิ่งที่สองบริษัทนี้มีและน่าจะเป็นข้อได้เปรียบมาก คือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นของเขาเอง ถ้าตั้งเสาวันนี้กับ 15 ปีที่แล้ว ความยากง่ายต่างกันคนละเรื่อง วันนี้มีเงื่อนไขมากมาย บางพื้นที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มีสตางค์ มีที่จะตั้งเสาได้ และเราเป็นรัฐวิสาหกิจ การไปขอใช้ฟาซิลิตี้หน่วยงานรัฐด้วยกันก็ง่าย เช่น สถานีตำรวจในทุกตำบลมีเสาสัญญาณ"
"น.อ.อนุดิษฐ์" พูดถึงภารกิจของบอร์ดใหม่ทีโอทีด้วยว่า คือเร่งขยายโครงข่ายเฟส 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
"ไม่ มีใครทำธุรกิจโมบายแล้วขาดทุน ทีโอทีก็เช่นกัน จะทำให้มีกำไร เฟส 1 จะเร่งให้เสร็จภายในปีนี้ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคต้องปลดล็อกเพื่อให้ทำให้เสร็จ เมื่อมีบอร์ดใหม่จะเห็นภาพชัดเจน"
มากกว่านั้น "ไอซีที" ยังพูดถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของ "ทีโอที" ด้วยว่า ควรให้ความสำคัญกับการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร โดยไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ เพราะ 2 ใน 3 โอเปอเรเตอร์ในไทยปัจจุบัน มีพาร์ตเนอร์เป็นต่างชาติทั้งนั้น
"การหาพาร์ตเนอร์เป็นวิธีการที่ ทุกประเทศ ทุกบริษัทในเทเลคอมทำ คำว่าโมบายชัดเจนอยู่แล้วว่า โมบิลิตี้ คือเคลื่อนที่ ยิ่งมีเครือข่าย มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงได้เท่าไร ยิ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น"
อนาคต "ทีโอที" อาจพอเห็นความหวังขึ้นมาบ้าง หากยึดตามคำพูดรัฐมนตรี
"ไอซีที" แม้ไม่ต่างไปจากความตั้งใจในขวบปีแรกที่นั่งในตำแหน่งนี้สักเท่าไร
แต่ถ้าลองรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ย่อมถือว่าไม่ธรรมดา กับการทำงานปีที่ 2 ในฐานะเจ้ากระทรวงไฮเทค ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย "สมาร์ทไทยแลนด์"