โทรศัพท์มือถือ"งอได้" เรื่องจริงอิงวิทยาศาสตร์ พบกันปี 2013
โทรศัพท์มือถือ"งอได้" เรื่องจริงอิงวิทยาศาสตร์ พบกันปี 2013
จะเป็นอย่างไร หากโทรศัพท์ของคุณ สามารถม้วนได้ ทำตกได้ หรือเผลอเหยียบได้ โดยไม่เกิดความเสียหายแม้แต่นิดเดียว ขณะที่นักวิจัยกำลังคิดค้นโทรศัพท์ต้นแบบ ท่ามกลางข่าวลือว่ามันอาจเผยโฉมให้เราได้เห็นภายในปีหน้านี้
ซัมซุงได้เริ่มพัฒนาสมาร์ทโฟน โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า flexible OLED (Organic Light Emitting Diode) และมั่นใจว่ามันจะเป็นโทรศัพท์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก
โฆษกซัมซุงเผยว่า หน้าจอของโทรศัพท์รุ่นนี้ สามารถงอได้ ม้วนได้ และที่สำคัญ "ใช้ได้จริง" รวมถึงยังรับประกันความทนทานของวัสดุที่นำมาผลิต ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความบางกว่า เบากว่า และยืดหยุ่นกว่าเทคโนโลยีแอลซีดีที่ใช้ในปัจจุบัน
คอนเซ็ปต์การสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่น มีการริเริ่มตั้งแต่ในช่วงยุค 1960 เมื่อมีการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ขึ้น เมื่อปี 2005 ฟิลิปส์ได้สาธิตการทำงานของหน้าจอต้นแบบที่สามารถม้วนได้ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งโดดเด่นมากนัก กระทั่งปัจจุบันที่เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มกลับมาสู่กระแสอีกครั้ง
อุปกรณ์คินเดิลของอเมซอนรุ่นแรก ใช้หน้าจอที่ยืดหยุ่นได้ แต่ปัญหาเดียวของมันก็คืออุปกรณ์ต่างๆที่อยู่เบื้องหลังหน้าจอ จำเป็นต้องมีกลไกชิ้นส่วนสำหรับช่วยยึด และเช่นเดียวกับอุปกรณ์อี-รีดเดอร์อื่นๆที่ผลิตตามมา ซึ่งใช้นวัตกรรม "E Ink" (electrophoretic ink) ที่พัฒนาโดยบริษัท E Ink จากสหรัฐฯ ซึ่งจะมีหน้าจอขาว-ดำ และทำงานโดยการสะท้อนแสงธรรมชาติ แทนที่จะผลิตด้วยตนเอง ทำให้เกิดภาพคล้ายกับการอ่านหนังสือในกระดาษจริง
Sri Peruvemba ผู้บริหาร E Ink เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเช่นนี้ราว 30 ล้านเครื่อง เครื่องที่เก่าที่สุดที่ยังใช้การได้ผลิตตั้งแต่ปี 2006 เขากล่าวว่า E Ink เหมาะกับโทรศัพท์ธรรมดา, นาฬิกาข้อมือ, สมาร์ทเครดิต การ์ด, ป้ายสัญลักษณ์ และอื่นๆ
ส่วนสาเหตุที่มันยังไม่ถูกนำมาพัฒนามาใช้ในโทรศัพท์มือถือแบบยืดหยุ่นก็เพราะมันมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากการผลิตอุปกรณ์ที่มีความยืดหยุ่นอย่างสมบูณณ์นั้น ทั้งส่วนระนาบฟรอนทัลและแบคฟรอนทัลจะต้องมีความยืดหยุ่นเสมอกัน เช่นเดียวกับแบตเตอรี ฝาเครื่อง รวมถึงหน้าจอสัมผัส และอุปกรณ์อื่นๆ
ด้านบริษัทแอลจี ดิสเพลย์จากเกาหลีใต้ ได้เริ่มผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีหน้าจอยืดหยุ่นได้แบบ E Ink บ้างแล้ว โดยโฆษกแอลจีเผยว่า เทคโนโลยีแบบนี้จะทำให้โทรศัพท์มีความทนทานเป็นพิเศษ เนื่องจากอุบัติเหตุจากการทำโทรศัพท์ตกเป็นเรื่องที่เกิดได้เสมอ รูปร่างที่บางและน้ำหนักที่เบาของมันจะก่อให้เกิดการพัฒนาการออกแบบโทรศัพท์ในอนาคต
ด้าน ศ.แอนเดรีย เฟอร์รารี จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กำลังพัฒนาหน้าจอยืดหยุ่นได้สำหรับอนาคต โดยใช้กราฟีน ซึ่งมีการผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2004 โดยอังเดร เกอิม และคอนสแตนติน โนโวเซลอฟ สองนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
ในแวดวงวิทยาศาสตร์ขนานนามกราฟีน ว่าเป็น "วัสดุมหัศจรรย์" หรืออัญรูป(allotrope) ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของคาร์บอนเช่นเดียวกันกับเพชรและกราไฟต์ แต่ กราฟีนนั้นจะประกอบขึ้นด้วยอะตอมของคาร์บอนที่เกาะกันเป็นรูปหกเหลี่ยม ซึ่ง กาะอยู่บนระนาบเดียวกันไปเรื่อยๆ จนมีลักษณะเป็นแผ่นที่มีความกว้างและความ ยาวคล้ายกับแผงลวดตาข่ายที่ใช้ทำกรงสัตว์ ซึ่งถึงแม้ว่ากราฟีนจะมีความแกร่งกว่าเพชรก็ตาม แต่มันก็สามรถม้วนหรือพับได้ด้วย
นักวิจัยเชื่อว่า ในอนาคตกราฟีนอาจนำมาใช้ทดแทนซิลิโคนได้ ที่อาจปฏิวัติวงการอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่ในอนาคต
ศ.เฟอร์รารี เปิดเผยว่า เขาและคณะกำลังร่วมกันพัฒนาวัสดุทำหรับผลิตเป็นหน้าจอที่มีความโปร่งแสงและยืดยุ่นได้ ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นโทรศัพท์ แทบเล็ต โทรทัศน์ และแผงโซลาร์เซลที่มีความยืดหยุ่นได้ โดยปัจจุบันเขาทำงานร่วมกับโนเกีย อดีตเบอร์หนึ่งผู้ผลิตมือถือของโลกเพื่อผลิตวัสดุต้นแบบ และเสริมว่า ซัมซุงมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านนี้มาก
เขากล่าวว่า กราฟีนจะช่วยเสริมและสนับสนุนให้การทำงานของโทรศัพท์ยืดหยุ่นที่ใช้เทคโนโลยี OLED มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากในทางทฤษฎีแล้ว แม้แต่แบคเคอรีของโทรศัพท์รุ่นนี้ก็สามารถผลิตจากกราฟีนได้เช่นกัน