ไมโครซอฟท์เผยผลการวิจัย ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นภัยคุกคาม
ไมโครซอฟท์เผยผลการวิจัย ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นภัยคุกคาม
ไมโครซอฟท์เผยผลการวิจัยด้านความปลอดภัยของเครื่องคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบว่าร้อยละ 63 ของดีวีดีปลอมแปลงและคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ มีความเสี่ยงต่อการติดไวรัสและมัลแวร์
ทั้งนี้ ทีมพิสูจน์ความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ ได้วิจัยโดยใช้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 118 รายการ ที่ซื้อมาจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม จากกลุ่มตัวอย่างที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าคอมพิวเตอร์ติดไวรัสและมัลแวร์กว่า 2,000 รายการ ในจำนวนนี้เป็นไวรัสที่อันตรายต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หลายชนิด เช่น Backdoors Hijackers Droppers Bots Crackers Password Stealersและ Trojans
ผลการวิจัยระบุด้วยว่า ร้อยละ 77 ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นำมาตรวจสอบ พบว่าวินโดวส์ อัพเดต (Windows Update) ไม่ทำงาน หรือถูกส่งไปยังบริการอัพเดตของกลุ่มบุคคลที่ 3 เนื่องจากการที่วินโดวส์ อัพเดต ไม่ทำงาน ระบบคอมพิวเตอร์จึงเลี่ยงการตรวจสอบซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์และไม่ยอมรับการอัพเดตโปรแกรมความปลอดภัยที่จำเป็น จึงทำให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถป้องกันตัวเครื่องจากการถูกไวรัสโจมตี การติดไวรัสและการถูกเจาะเข้าสู่ระบบได้
โดยอาชญากรรมทางไซเบอร์ทุกรูปแบบจะใช้ไวรัสในการบุกรุกเพื่อผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่การเจาะรหัสเพื่อเข้าไปขโมยข้อมูลทางการเงินและบัตรเครดิต รวมไปถึงการส่งอีเมล์ขยะหรือส่งคำขอเป็นเพื่อนที่มีเจตนาฉ้อโกงทางโซเชียล มีเดีย ในรูปของการบริจาคการกุศลหรือการยื่นข้อเสนอหลอกลวง ซึ่งอาชญากรรมเช่นนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากบริษัทผิดกฎหมายเหล่านี้นั่นเอง สำหรับองค์กรธุรกิจต่งๆ ความเสี่ยงเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมข้อมูลลับของบริษัทและการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ ระบบการทำงานล้มเหลวและหยุดชะงักบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความเสียหายทางการเงินที่รุนแรงและความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงของบริษัท
ทั้งนี้ รายงานจาก นอร์ตัน ไซเบอร์ไครม์ ปี 2012 พบว่า ค่าความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ย 1 คนเท่ากับ 197 ดอลลาร์สหรัฐ
หน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา สังกัดกระทรวงพาณิชย์ จึงได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และได้พยายามลดจำนวนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคหันมาใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์
โดย บก.ปอศ.ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายแล้วผู้บริโภคยังจะทำให้ตัวเองและครอบครัวเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากสแปม โปรแกรมไวรัส หรือมัลแวร์ ซึ่งจะเกิดผลเสียทั้งต่อข้อมูลและหากนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินอาจเกิดปัญหาได้ภายหลัง
หรือหากลูกค้าที่สงสัยว่าซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งได้ที่ www.microsoft.com/piracy ลูกค้าที่แจ้งการละเมิดกฎหมายที่น่าสงสัยได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และช่วยให้เราสามารถการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีขึ้น