ธุรกิจมือถือปรอทแตกรับ3G ชิงสมาร์ทโฟน-ดิจิทัลคอนเทนต์8หมื่นล.

ธุรกิจมือถือปรอทแตกรับ3G ชิงสมาร์ทโฟน-ดิจิทัลคอนเทนต์8หมื่นล.

ธุรกิจมือถือปรอทแตกรับ3G ชิงสมาร์ทโฟน-ดิจิทัลคอนเทนต์8หมื่นล.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธุรกิจมือถือปรอทแตกรับ3G ชิงสมาร์ทโฟน-ดิจิทัลคอนเทนต์8หมื่นล.

สมรภูมิมือถือยุคเปลี่ยนผ่านสู่ "3G" คึกคักสุดขีด หลายธุรกิจได้อานิสงส์ถ้วนหน้า หลังยอดเปลี่ยนมือถือใหม่โตทะลุ 20 ล้านเครื่อง สมาร์ทโฟนมากกว่าครึ่ง "เชนสโตร์" ปรับพอร์ตลุยเต็มสูบ ผู้ผลิต "บิ๊กแบรนด์" ปูพรมสินค้าใหม่ปะทะทัพสินค้าจากจีน "ผู้บริโภค" ยิ้มร่าแข่งเดือดทำแนวโน้มราคาสมาร์ทโฟนลดวูบ พร้อมหนุนธุรกิจ "ดิจิทัลคอนเทนต์" คึกคักบูมทะลุ 1.5 หมื่น ล.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือเริ่มคึกคักขึ้นโดยลำดับ หลังจาก "เอดับบลิวเอ็น" ในเครือ "เอไอเอส" ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มือวางอันดับ 1 ของไทยกดปุ่มเปิดบริการ 3G บนคลื่นใหม่ 2.1 GHz เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นแค่การทดลองให้ลูกค้า 2 แสนราย จากฐานลูกค้า 3G คลื่นเดิม 900 GHz กว่า 4 ล้านราย ก่อนเปิดบริการอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้

นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบุว่า ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้ 3G คลื่น 2.1 GHz กว่า 10 ล้านราย เป็นผู้ใช้ใหม่ 6 ล้านราย และกลุ่มที่ใช้ 3G เดิมกว่า 4 ล้านราย โดยขณะนี้กำลังเร่งขยายพื้นที่การให้บริการ คาดว่าจะเปิดครบทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

WDS จัดเต็มหนุนเอไอเอส 3G

นายถกลรัตน์ แก้วกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด (ดับบลิวดีเอส) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในเครือเอไอเอส กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทเตรียมติดต่อผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทุกราย ทั้งที่เป็นคู่ค้าเดิม เช่น โนเกีย, ซัมซุง และเอชทีซี เป็นต้น รวมถึงรายใหม่ ๆ เพื่อนำเครื่องเข้ามาทำตลาดให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งจะพยายามบริหารสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับการนำสินค้ารุ่นใหม่ที่จะเข้ามาจำหน่าย และการทำแคมเปญส่งเสริมการขายด้วยกลยุทธ์ "ราคา" ช่วยเอไอเอส บริษัทแม่ทำการตลาดเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้เครื่องที่รองรับคลื่น 2.1 GHz

"ไม่แปลกที่ดิสทริบิวเตอร์ทุกเจ้าเร่งสั่งสินค้ามาสต๊อก เพราะความต้องการของผู้บริโภคสูงมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่โซเชียลเน็ตเวิร์กมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ถ้า 3G คลื่น 2.1 GHz เปิดบริการเต็มรูปแบบ ลูกค้าทุกคนย่อมคิดว่าต้องดีกว่าเดิม กลุ่มที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือก็จะเข้ามาใช้เพิ่ม ขณะที่กลุ่มที่ใช้งานอยู่เดิมจะมีการเปลี่ยนเครื่อง"

ขณะที่แนวโน้มราคาสมาร์ทโฟนจะปรับลดลงอย่างชัดเจน จากปีที่ผ่านมาราคาต่ำสุดอยู่ที่ 4 พันบาท แต่ปีนี้จะได้เห็นรุ่นที่มีราคา 3 พันบาท หรือต่ำกว่ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูงสามารถหามา

ใช้งานได้ แต่ราคาเฉลี่ยอาจเท่าปีที่แล้วคือ 6-7 พันบาท เพราะปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนราคาระดับกลางออกมาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์โฟนที่รองรับคลื่น 2.1 GHz ก็อาจได้เห็นรุ่นที่มีราคาระดับ 1 พันบาท

มูลค่าตลาดมือถือโต 30%

นายถกลรัตน์กล่าวว่า เมื่อโอเปอเรเตอร์ทุกรายเปิดบริการ 3G คลื่น 2.1 GHz จะทำให้ความต้องการใช้งานข้อมูล (ดาต้า) ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน ส่งผลให้บรรดาผู้ค้าโทรศัพท์มือถือต้องวางแผนการบริหารจัดการสินค้าล่วงหน้า รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, ฟีเจอร์โฟน และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แท็บเลต และแอร์การ์ด เป็นต้น

หากประเมินจำนวนเครื่องในตลาดปีนี้เท่ากับปีที่แล้วคือ 15 ล้านเครื่อง ในแง่มูลค่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 15% เนื่องจากราคาเฉลี่ยของเครื่องสูงขึ้น

ด้านนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไบรท์สตาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งในดิสทริบิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า ตลาดรวมปีนี้คงไม่ต่ำกว่า 16 ล้านเครื่อง เติบโตจากปีที่แล้วกว่า 10%

แต่ในแง่มูลค่าอาจโตถึง 30% เพราะสมาร์ทโฟนจะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ฟีเจอร์โฟนคงซบเซาจนเหลือให้เห็นแค่ในโมเดิร์นเทรดและร้านต่างจังหวัด

"ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ตลาดรวมแม้ไม่เติบโตแต่ก็ไม่ลดลง เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวไอโฟน 5 การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ช่วงต้นปียังค่อนข้างจำกัด โดยส่วนตัวมองว่าไตรมาส 2 ตลาดอาจ

ดีขึ้น เพราะน่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เปิดตัว เช่น ซัมซุง กาแล็กซี่ เอส โฟร์, แบล็คเบอร์รี่ 10 และไอโฟนรุ่นใหม่ เป็นต้น และที่เปิดตัวไปแล้ว เช่น โซนี่ เอ็กซ์พีเรีย Z และเอชทีซีวัน ที่จะช่วยให้ตลาดคึกคัก"

นายกิตติพงศ์กล่าวต่อว่า การเปิดบริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz เป็นปัจจัยหลักในการช่วยให้ตลาดสมาร์ทโฟนมีการเติบโต เนื่องจากโอเปอเรเตอร์จะพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้ใช้ฟีเจอร์โฟน 2G ที่มีสัดส่วน 70-80% ของตลาดรวม 80 ล้านเลขหมาย หันมาใช้สมาร์ทโฟน

ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท มองว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือในปี 2556 จะมียอดขายรวมประมาณ 20 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟนประมาณ 12 ล้านเครื่อง โดยมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและแท็บเลตจะอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท

เครื่องจีนปะทะบิ๊กแบรนด์

ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแบรนด์ดังหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นโซนี่ และโนเกียต่างประกาศว่าเตรียมนำสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่มีระดับราคาไม่แพงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

นายวงศ์สมรรถ สรรเพชุดาญาณ ผู้อำนวยการธุรกิจโมบาย บริษัท คอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม คอนเน็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ซีเอสซี) เปิดเผยว่า จังหวะนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับร้านค้าที่จะทำรายได้ เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากต้องการข้ามไปใช้ 3G คลื่น 2.1 GHz จึงเริ่มติดต่อผู้ผลิตเพื่อสั่งสินค้าเข้ามาสต๊อกให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งหารือค่ายมือถือเพื่อการทำตลาดร่วมกัน

"จะมีมือถือจากจีนเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น คล้ายกรณีแท็บเลตเมื่อได้รับความนิยมจากตลาด ผู้ค้าก็จะนำเข้าเครื่องราคาถูกเข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยคาดว่าราคาสมาร์ทโฟนจะมีการปรับลดลง จากต้นปีราคาเริ่มต้นที่ 3,500 บาท กลางปีนี้อาจลงมาเหลือ 3 พันบาท เพื่อแย่งชิงตลาดกว่า 20 ล้านเครื่อง โดยบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดมากขึ้นถึง 50% หรือมากกว่า"

ขณะที่นายสุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีเดีย อินฟินิตี้ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่น R-MA มองว่า ตลาดรวมโทรศัพท์มือถือ

ปีนี้มีโอกาสไปถึง 20-25 ล้านเครื่อง สูงกว่าบริษัทวิจัยหลายสำนักคาดการณ์ไว้ จากความต้องการใช้ 3G ของผู้บริโภคทำให้ผู้ค้าและโอเปอเรเตอร์ต้องสั่งเครื่องเข้ามาจำหน่ายเพิ่ม เป็นสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟนอย่างละครึ่ง

"ปีนี้อินฟีนิตี้จะส่งสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดเกือบ 30 รุ่น เป็นสมาร์ทโฟน 10 รุ่น เน้นราคาต่ำ ทั้งจะนำแท็บเลตเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม โดยเพิ่มช่องใส่ซิมการ์ดเพื่อให้ใช้ระบบโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้"

ราคาสมาร์ทโฟนปรับลดลง

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า ราคาสมาร์ทโฟนที่รองรับ 3G เต็มรูปแบบของอินเตอร์แบรนด์จะเริ่มต้นที่ 3 พันบาท ส่วนฟีเจอร์โฟนมี 2 ประเภท คือที่ใช้ได้เฉพาะ 2G และ 3G ใช้คลื่น 2.1 GHz ได้ ปัจจุบันราคาฟีเจอร์โฟนที่ใช้ 3G คลื่นใหม่ราคายังค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่ 1,400 บาท ไม่สมเหตุสมผลในการใช้งาน ขณะที่ฟีเจอร์โฟน 2G ราคา 500-700 บาท ตนมองว่าฟีเจอร์โฟนที่รองรับ 2.1 GHz จะได้รับความนิยมเมื่อค่ายมือถือมีการทำแพ็กเกจรายเดือนขายคู่กับเครื่อง

ด้านนายอดิศักด์มองว่า ราคาสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มปรับลดลงเหลือราคาต่ำกว่า 2,000 บาทในปลายปี จากปีที่แล้วที่ระดับราคาต่ำสุดอยู่ที่ 3,900 บาท ขณะที่ฟีเจอร์โฟนยังคงมีสัดส่วนยอดขายในตลาดประมาณ 35% แต่ในอีก 2 ปีอาจเหลือน้อยกว่า 5%

สำหรับราคาสมาร์ทโฟนในตลาดปัจจุบันที่ใช้งานคลื่น 2.1 GHz ถ้าเป็นอินเตอร์แบรนด์ราคาถูกสุด เป็นซัมซุง E3309 หรือ Hero 3G ราคา 1,690 บาท (รุ่นนี้เอไอเอสจัดโปรโมชั่นขายคู่แพ็กเกจราคา 1,600 บาท) ถัดมาเป็นโนเกีย Acha 311 ราคา 3,990 บาท ถ้ารวมเครื่องเฮาส์แบรนด์ที่นำเข้ามาโดยโอเปอเรเตอร์ถูกสุด จะเป็น GoLive ของทรูมูฟเอช รุ่นใหม่ 1,290 บาท พร้อมแพ็กเกจค่าโทร. และเล่นเน็ตฟรีเท่าราคาเครื่อง

ส่วนราคาแท็บเลตที่รองรับ 3G ราคาถูกสุดอยู่ที่ 4,900 บาท เช่น I-Tab รุ่น i705 (ความเร็ว 1 GHz แรม 1 GB) หน้าจอ 7 นิ้ว กล้องหลังความละเอียด 2 ล้านพิกเซล แอนดรอยด์ 4.0 และ OKER รุ่น TP-702 เป็นต้น หากขยับไปที่อินเตอร์แบรนด์ ราคาเริ่มต้น 9,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12,000 บาท มีให้เลือกหลายยี่ห้อ ตั้งแต่ Nexus 7 ของอัสซุส (ราคา 11,900 บาท), ซัมซุง Galaxy Tab 2 ราคา 9,900 บาท เป็นต้น

ดิจิทัลคอนเทนต์ทะลุ 1.5 หมื่น ล.

นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลของเอไอเอส ระบุว่า อานิสงส์จากการเปิดให้บริการ 3G คาดว่าจะทำให้มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ปีนี้อาจสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 15% ผลจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และการใช้งาน 3G เพราะปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ เป็นการใช้งานผ่าน

สมาร์ทดีไวซ์ทั้งหมด ทำให้เวลาในการใช้งานบนหน้าจอเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่ภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนการสร้าง

แอปพลิเคชั่น หรือบริการต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของนักพัฒนาหน้าใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ตอัพจำนวนมาก ทั้งนี้หากนับรวมบริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์อาจมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

มีทั้งการโฆษณาออนไลน์, แอปพลิเคชั่น SOLOMO (Social, Location, Mobile), แอปพลิเคชั่น ประเภทแชต และบริการเสริมของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าเจาะไปที่บริการเสริมของมือถือจะมีมูลค่าอยู่ถึง 15,000 ล้านบาท โดยเติบโตจากปีที่แล้ว 15-20%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook