ค่ายมือถือเปิดศึกยกแรก ต่างสไตล์เป้าหมายเดียวกัน

ค่ายมือถือเปิดศึกยกแรก ต่างสไตล์เป้าหมายเดียวกัน

ค่ายมือถือเปิดศึกยกแรก ต่างสไตล์เป้าหมายเดียวกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่ายมือถือเปิดศึกยกแรก ต่างสไตล์เป้าหมายเดียวกัน

อาจไม่ถึงกับหักเหลี่ยมเฉือนคมกันนัก สำหรับการเปิดตัวบริการบนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz ในที่นี้จะบอกว่าเป็น 3G ไปเลยก็คงใช้ไม่ได้กับทุกค่าย เพราะบ้างก็ชัดเจนว่า 3G (มาตรฐานโลก) บ้างก็หนีไป 4G และบ้างก็ยังไม่เปิดบริการบนคลื่นใหม่ แค่ประกาศว่า มีแถบความถี่พร้อมให้บริการถึง 3 ช่วงคลื่น (Trinet)


กระนั้นก็คงต้องบอกว่า 3 ค่ายมือถือกลับเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งแล้วอย่างเป็นทางการ หลังจากทั้ง 3 รายได้รับใบอนุญาตใหม่คลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz เพื่อนำมาพัฒนาบริการและก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจภายใต้กฎ กติกาใหม่ในการกำกับ โดย "กสทช." ที่มีชื่อเต็มยาวเหยียดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้วยการเปิดเกมของ "เอไอเอส 3G" เอไอเอส หรือ "เอดับบลิวเอ็น" ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาต เลือกวันที่ 7 พ.ค. 2555 เป็นวันเปิดตัวบริการเป็นทางการ (เฟสแรกใช้งานได้ก่อน 20 จังหวัด) แม้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความถี่ไม่พอจนต้องเร่งลงทุนทำ 3G คลื่น 2.1 GHz ก็ตาม ด้วย "ดีแทค" เพิ่งอัพเกรดเครือข่ายทั่วประเทศใหม่ ทั้งมีคลื่น 850 MHz ทำ 3G อยู่แล้ว เช่นกันกับ "ทรูมูฟ เอช" แต่ทั้ง "ทรูมูฟ เอช" และ "ดีแทค" ก็มิอาจอยู่เฉยได้ เมื่อพี่ใหญ่กดปุ่มเปิดเกมกลับเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันเต็มรูปแบบ หลังต้องทนอึดอัดหาวเรอทำอะไรไม่ได้ เพราะคลื่นเต็ม (900 MHz) กระทบคุณภาพบริการ จนเสียรังวัดไปไม่น้อย ว่ากันว่าแต่แรก "เอไอเอส" ตั้งใจจัดงานวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งบังเอิญว่าใจไปตรงกับ "ดีแทค" เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ว่าใจตรงกันเลยเลี่ยงทั้งคู่ ทำให้วันที่ 8 ไปลงล็อก "ทรูมูฟ เอช"7-8-9 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงถือเป็นวันที่ทั้ง 3 ค่ายหวนคืนสังเวียนอย่างเป็นทางการ

ยกแรกของศึกมือถือยังไม่น่าจะเห็นการสู้รบปรบมือเรื่อง "ราคา" แต่เอาเข้าจริงจะว่าไม่แข่ง "ราคา" เลยก็คงไม่ใช่ ส่วนหนึ่งเพราะมีแรงกดดันจากเงื่อนไขของ "กสทช." ที่ระบุให้มีการปรับลดอัตราค่าบริการลง 15% แม้เอาเข้าจริง "กสทช." จะทำอะไรไม่ได้มากนัก ขณะที่เมื่อไปถามค่ายมือถือรายไหนรายนั้น แค่อ้อมแอ้มว่า ยินดีให้ความร่วมมือ "เอไอเอส 3G" เปิดตัวพร้อมสโลแกน "AIS 3G 2100 ตัวจริงมาตรฐานโลก"

"วิเชียร เมฆตระการ" ซีอีโอ เอไอเอสประกาศว่า วันนี้ (7 พ.ค.) พร้อมให้บริการใน 20 จังหวัด แต่จะเร่งขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าจาก 8 แสนราย เป็น 10 ล้านรายให้ได้ในช่วงสิ้นปีเช่นกัน แม้ใน 10 ล้านรายจะโยกมาจากลูกค้าเดิมของตนเองไม่น้อย แต่ 10 ล้านรายก็ยังเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ (มาก)

"เอไอเอสจะทำการตลาดเครือข่ายใหม่ ด้วยคำว่า 3G 2100 เพื่อให้เกิดความแตกต่างในสายตาผู้บริโภค โดยจะลงโฆษณาในทุกสื่อแมสมีเดีย นอกจากมีการออกแพ็กเกจใหม่ 4 แพ็กเกจสำหรับลูกค้าที่ใช้ 3G 2.1 GHz โดยเฉพาะแล้ว ยังจะมีโปรโมชั่นอุปกรณ์มือถือหลากหลายรุ่นตามมาอีก พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมพนักงานให้สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ต้องการเข้ามาใช้บริการได้"

ถ้าดูแพ็กเกจบริการที่ออกมาก็ถือว่าไม่ขี้เหร่นัก แม้จะมีเสียงบ่นจากทั้งลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้าในเว็บบอร์ดพันทิปบ้างว่าไม่เร้าใจ แต่เทียบกันกับแพ็กเกจเดิม โดยเฉพาะค่าดาต้าก็ถูกกว่า จากที่เคยคิดนาทีละ 2 บาท/MB ก็เหลือ 1.50 บาท พร้อมกับเพิ่มนาทีในการโทร. เช่น แพ็กเกจ 200 บาท/เดือน เดิมโทร.ได้ 200 นาที เพิ่มให้เป็น 230 นาที เป็นต้น

หลังเปิดตัวเป็นทางการแล้ว คงมีกิจกรรมการตลาดใหม่ ๆ ตามมาอีกหลายชอต ชนิดที่เรียกได้ว่า จัดเต็มเพื่อไม่ให้เสียชื่อที่อุตส่าห์ออดอ้อนลูกค้าให้รอกันก่อน ฟาก "ทรูมูฟ" ตั้งแต่เติม "เอช" ต่อท้ายเป็นต้นมาก็พลิกสถานะจากน้องเล็กมาเป็นผู้นำได้สำเร็จ กับบริการ 3G เพราะเป็นเจ้าแรก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในฐานะ "คนแรก" จึงฉีกแนวด้วยการเปิดตัวบริการ 4G บนคลื่น 2.1 GHz โดยประกาศว่า ปีนี้จะลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ขยายเครือข่าย 3G บนคลื่น 850 MHz และ 2.1 GHz ซึ่งคลื่นนี้ทำทั้ง 3G และ 4G

"ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายว่า เนื่องจากใบอนุญาตใหม่ที่ให้ใช้คลื่น 2.1 GHz ไม่จำกัดเรื่องเทคโนโลยีจึงเลือกนำมาพัฒนาบนเทคโนโลยี LTE หรือ "4G" โดยเฟสแรกให้บริการได้เฉพาะกรุงเทพฯชั้นใน เช่น ราชประสงค์, สีลม, สาทร, สนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีสถานีฐาน 500 แห่ง ภายในปลายปีนี้จะขยายให้ครบ 2,000 แห่ง ครอบคลุม 15 หัวเมืองหลัก

ส่วน 3G คลื่น 2.1 GHz จะทำให้ครบ 5,000 แห่ง จุดหลักของ 3G ค่ายทรูจึงไปอยู่ที่คลื่น 850 MHz เป็นหลัก เพราะมีถึง 13,500 สถานีฐาน ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นบริการ 3G หรือ 4G บนคลื่นความถี่ไหนโดยบริษัทใด บริการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แบรนด์เดียว คือ "ทรูมูฟ เอช" และใช้เกณฑ์ในการทำตลาดตามพื้นที่ที่มีโครงข่าย "การเปิด 4G ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ทดลองใช้งาน แต่ลูกค้าทุกคนใช้งานได้จริง เราขยายโครงข่ายในกรุงเทพฯย่านที่มีคนใช้หนาแน่นเป็นอันดับแรก ถ้าตอบโจทย์การใช้ของลูกค้าก็จะเร่งขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น ปีนี้จะรองรับได้ 5 แสนเลขหมาย ปีหน้าจะเพิ่มอีกเท่าตัว ทั้งพื้นที่บริการ และที่สำคัญคือทำตาม กสทช. ที่กำหนดให้ภายใน 4 ปีต้องเปิดบริการครอบคลุม 80%"

"อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข" กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบาย กลุ่มทรู พูดถึงแพ็กเกจค่าบริการว่า ลดลงกว่าเท่าตัว จากเดิมคิดค่าดาต้าที่ 2 บาท/1 MB ลดลงเหลือ 1 บาท และเพิ่มปริมาณการใช้งานบนความเร็วสูงสุดอีก 1 GB พร้อมความเร็วในรูปแบบ 4G เป็นต้น เช่น 4G iSmart 699 ค่าบริการ 699 บาท/เดือน โทร.ได้ 300 นาที ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ความเร็วสูงสุด 2 GB ใช้ไวไฟไม่จำกัด คาดว่าแพ็กเกจนี้จะได้รับความนิยมสูงสุด เพราะลูกค้าเดิมส่วนใหญ่ใช้แพ็กเกจนี้ สำหรับ "ดีแทค" ชัดเจนว่า ไม่รีบเปิด 3G คลื่น 2.1 GHz ณ จังหวะนี้จึงขอเปิดตัว "TriNet"

"จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์" ซีอีโอ "ดีแทค" ย้ำชัด ๆ ว่า หลังจากประมูลความถี่ 2.1 GHz จาก กสทช.ได้เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้มีคลื่นความถี่ที่มีแบนด์วิดท์หรือช่องสัญญาณกว้างที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ได้แก่ 1800 MHz ความจุ 50 MHz ใช้งานอยู่ 25 MHz เพื่อให้บริการเสียง (วอยซ์) คลื่น 850 MHz ความจุ 10 MHz ให้บริการข้อมูล (ดาต้า) ในระบบ 3G เมื่อรวมกับ 2.1 GHz ที่เพิ่งได้มา 15 MHz เพื่อนำมาใช้บริการ 3G และพร้อมต่อยอดไป 4G ทำให้ดีแทคมีแบนด์วิดท์มากถึง 50 MHz และได้นำคลื่นทั้งหมดมาให้บริการพร้อมกัน ภายใต้ชื่อ "TriNet" ทั้ง 3 คลื่นจะเชื่อมต่อระบบรับส่งสัญญาณเข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการในทุกพื้นที่ และทุกรูปแบบ พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย.นี้

เรื่องค่าบริการ "ดีแทค" ยืนยันว่า ถูกกว่าที่ กสทช.กำหนดให้ต่ำกว่า 15% เช่น เดิมแพ็กเกจ 799 บาท โทร.ได้ 350 นาที ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ความเร็วสูงสุด 2 GB แพ็กเกจใหม่ 749 บาท โทร.ได้ 400 นาที ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ความเร็วสูงสุด 3 GB เป็นต้น เรื่องคุณภาพเครือข่าย ใครจะมีกี่คลื่นความถี่ จะอัพเกรดเป็นกี่ G แล้วเป็นอย่างไร ลูกค้าของแต่ละค่ายคงสัมผัสได้เอง จะดีขึ้นหรือแย่ลง อีกไม่นานก็คงบอกกันปากต่อปาก ส่วนเรื่อง "ราคา" ใครถูกใครแพงเทียบได้ไม่ยาก เช่นกันกับสารพัดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ค่ายไหนมี ค่ายไหนไม่เคยมี และค่ายไหนพยายามทำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook