ไม่ปิดแก็ดเจ็ตบนเครื่องบินได้ไหม?
ไม่ปิดแก็ดเจ็ตบนเครื่องบินได้ไหม?
กฎระเบียบข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างเครื่องบินทำการขึ้นและลงรวมถึงอุปกรณ์บางชนิดที่งดการใช้งานตลอดเส้นทาง เป็นกฎที่อยู่คู่กับผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 1996
เมื่อเราเดินขึ้นเครื่องบินและจัดแจงนั่งลงบนที่นั่งและรัดเข็มขัดเรียบร้อยแล้ว เราก็มักจะคุ้นเคยกับการรีบคว้าโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตขึ้นมาเล่นและส่งข้อความหาเพื่อนหรือคนในครอบครัวให้รู้ว่าเครื่องจะออกแล้วนะเตรียมไปปูพรมแดงรอรับด้วย หรืออัพเดตสเตตัสบนเฟซบุ๊กกันรัวๆ ในยุคที่จะไปไหนก็ต้องบอกใครแบบนี้
และยังไม่ทันได้เสร็จสิ้นภารกิจทิ้งท้ายทั้งหมด เสียงประกาศภายในตัวเครื่องก็จะดังขึ้น และขอให้ "ผู้โดยสารทุกท่านพับโต๊ะหน้าที่นั่ง ปรับพนักเก้าอี้ให้ตรง และงดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทในขณะเครื่องบินทำการขึ้นและลง"
ซึ่งเป็นประกาศที่ก่อให้เกิดอารมณ์เซ็งขึ้นมาทุกครั้งที่ได้ยินเพราะนั่นหมายถึงแก็ดเจ็ตจะถูกพรากออกจากมือเรา เปรียบเสมือนซูเปอร์แมนที่มีพลังพิเศษเหนือมนุษย์ให้ใช้แต่กลับใช้ไม่ได้ เพราะอยู่ใกล้คริปโตไนต์ เหมือน แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ที่แม้จะรู้คาถามากมายแต่ไม่มีไม้กายสิทธิ์ให้เสก และถึงแม้จะเว้าวอนและสัญญาสาบานว่าเครื่องอยู่ใน Flight Mode ที่เป็นการปิดสัญญาณวิทยุทุกประเภทอย่างไรก็ไม่รอดอยู่ดี
ถ้าหากว่าคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนกลุ่มที่เดือดร้อนใจกับปัญหาที่กล่าวมาและอยากมีอิสระในการใช้แก็ดเจ็ตของตัวเองตลอดทั้งเที่ยวบินโดยไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ปี 2013 นี้นับว่าเป็นปีที่น่าลุ้นมากทีเดียว
เพราะปีนี้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนกฎระเบียบข้อนี้ว่าควรจะมีการผ่อนปรนให้ผู้โดยสารเครื่องบินสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์"บางประเภท" ในระหว่างการนำเครื่องขึ้นและลงได้หรือไม่
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้ลองศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นบนเครื่องบินและจะนำมาพิจารณาดูว่าจะยกเลิก ผ่อนปรน หรือบังคับใช้กฎบางอย่างต่อไป ซึ่งจะประกาศผลให้รู้โดยทั่วกันภายในสิ้นปี 2013 นี้แน่นอน
ถึงแม้ว่า FAA จะยังไม่ทันได้ประกาศอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่การที่ผู้โดยสารเครื่องบินมีประสบการณ์ลืมปิดโทรศัพท์มือถือเมื่อขึ้นเครื่องบินแต่ก็สามารถไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เคยประสบพบเจอหรือได้ยินได้ฟังข่าวว่าเครื่องบินจะตกหรือร่อนลงจอดผิดจุดเพราะผู้โดยสารไม่ปิดโทรศัพท์ ก็ทำให้คนจำนวนมากมีพฤติกรรมไม่ปิดมือถือเมื่อขึ้นเครื่องบินมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลการสำรวจล่าสุดในสหรัฐอเมริกาบอกว่า 4 ใน 10 ของผู้โดยสารเครื่องบินยอมรับว่าไม่ได้ปิดแก็ดเจ็ตของตัวเองในระหว่างอยู่บนเครื่องบินไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ขณะที่มีผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆที่เริ่มเมินกับระบบความบันเทิงที่ติดอยู่หลังเบาะหน้าที่นั่ง และหันไปพึ่งการเล่นแอปพลิเคชั่นเกมต่างๆ บนแท็บเล็ต หรือหันไปใช้อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-reader ที่ตัวเองเตรียมมาแทน
ดังนั้น กฎกติการการห้ามใช้อุปกรณ์เหล่านี้บนเครื่องบินก็จะกระทบคนกลุ่มนี้เข้าจังๆ
สาเหตุที่คนจำนวนมากเลือกที่จะ"ดื้อ" และไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อนี้ไม่ใช่เป็นเพราะว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาเท่านั้น
แต่เป็นเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีผลการทดลองหรือการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานใดๆ เลย ว่าเหตุผลของการห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบินในระดับการบินที่ต่ำกว่าประมาณ 3,000 เมตร เพราะว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณออกมารบกวนระบบการสื่อสารภายในเครื่องบินนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้จริง
และถ้าหากว่าเชื่อตามนั้นจริงๆเหตุใดจึงยอมปล่อยให้ผู้โดยสารนำสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอีรีดเดอร์ ขึ้นไปบนเครื่องด้วย
ในขณะที่ของเหลวอย่าง แชมพู โลชั่น หรือน้ำดื่ม ที่ปริมาณมากกว่าที่กำหนดกลับถูกห้ามไม่ให้นำขึ้นไปบนเครื่องบินอย่างเคร่งครัด จนเรามักจะเห็นนักท่องเที่ยวกรอกน้ำกันราวกับอูฐด้วยความเสียดายจนชินตา
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็น2 กลุ่ม
คือกลุ่มที่บอกว่าข้อห้ามดังกล่าวมีขึ้นอย่างมีเหตุผล เพราะบนเครื่องบินจะมีระบบบังคับการบินที่จะต้องใช้เพื่อการนำทาง การติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน และการตรวจเช็กสภาพของส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องบินที่จะทำให้เครื่องบินบินอยู่บนอากาศได้อย่างราบรื่นขณะที่แก็ดเจ็ตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามนั้นล้วนแล้วแต่ปล่อยคลื่นวิทยุออกมาทั้งสิ้นซึ่งถ้าหากปล่อยออกมาในความถี่ที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในระบบการบินก็จะทำให้ไปรบกวนสัญญาณการอ่านค่าและส่งผลกระทบต่อเรดาร์ระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยีการป้องกันการชนในที่สุด โดยเฉพาะการที่มีแก็ดเจ็ตหลายชิ้นที่ปล่อยคลื่นวิทยุนี้ออกมาพร้อมๆ กัน ก็ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่
แต่ขณะเดียวกันก็มีห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์อีกแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียที่ลองนำแก็ดเจ็ตอย่างเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ Kindle มาลองวัดค่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมา (ซึ่งก็คือเสียงฮัมเบาๆ ที่ดังออกมาจากแก็ดเจ็ตในยามที่เปิดใช้งาน)
ผลปรากฏว่า Kindle ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาน้อยกว่า 30 ไมโครโวลต์ต่อเมตร ซึ่งคิดเป็น 0.00003 โวลต์เท่านั้น เทียบกับค่ามาตรฐานของเครื่องบินที่จะผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยให้ขึ้นบินได้ถ้าหากว่าสามารถรองรับการรบกวนทางไฟฟ้าได้มากกว่า100 โวลต์
ช่างดูห่างไกลกันเสียจนพกขึ้นไปกี่สิบกี่ร้อยเครื่องก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายได้ไม่ใช่หรือ?
แถมนักวิจัยจากห้องแล็บแห่งนี้ยังบอกว่าถ้าคิดด้วยสมมติฐานว่าการนำKindle ขึ้นไป 5 เครื่อง ก็ต้องมีพลังงานปล่อยออกมามากเป็น 5 เท่านั้นไม่เป็นความจริง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ทุกวันนี้คนที่เดินเข้าไปในออฟฟิศที่มีคอมพิวเตอร์เป็นร้อยเครื่องโดยที่ไม่ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายเลยไม่งอมพระรามกันไปหมดแล้วหรือ
นอกจากนี้การที่ FAA เคยอัพเดตกฎระเบียบข้อนี้ด้วยการอนุญาตให้มีการนำที่โกนหนวดไฟฟ้าและเครื่องบันทึกเสียงขึ้นไปใช้บนเครื่องบินได้ตลอดเวลานั้นก็ยิ่งสร้างความงุนงงเข้าไปใหญ่
เพราะเครื่องบันทึกเสียงปล่อยคลื่นออกมาพอๆกับ Kindle แถมในบางครั้งอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
มีการให้เหตุผลว่ากฎข้อบังคับการห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบินเหล่านี้บังคับใช้เพื่อให้ผู้โดยสารตั้งใจฟังข้อมูลสำคัญๆ ที่ประกาศบนตัวเครื่อง
เพราะถ้าหากผู้โดยสารทุกคนมัวแต่ก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับอุปกรณ์ของตัวเอง ก็จะไม่มีสมาธิที่จะแบ่งมาฟังคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องสาธิตให้ดูก่อนเครื่องขึ้นรวมถึงประกาศก่อนเครื่องลงทุกครั้ง
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ดูจะยอมรับกันอย่างกว้างขวางก็คือการที่พิสูจน์ไม่ได้จะจะว่าอันตรายหรือไม่อันตรายนี่แหละ ที่ทำให้ทุกสายการบินเลือกที่จะดำเนินการตามนโยบาย "ปลอดภัยไว้ก่อน" และ "กันไว้ดีกว่าแก้"
เราในฐานะผู้โดยสารในตอนนี้ไม่มีอะไรที่ทำได้มากไปกว่าการยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ FAA และสายการบินที่จะพิสูจน์ให้เราได้รู้กันไปว่าทำแบบไหนจึงจะปลอดภัยที่สุด ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องยอมผ่อนปรนแน่นอน
แต่ถ้าหากกลัวว่าผู้โดยสารจะไม่ตั้งใจฟังพนักงานต้อนรับก็แนะนำให้ทุกสายการบินดำเนินรอยตามเทรนด์ที่ให้แอร์โฮสเตสมาเต้นวาดลวดลาย เบยอนเซ่ เลดี้กาก้า กันให้มันสุดฤทธิ์ เพราะวิธีนี้ต่อให้แก็ดเจ็ตในมือพร้อม ก็รับรองว่าไม่มีใครใช้แน่นอน
จิตต์สุภา ฉิน Twitter: @Sue_Ching ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ภาพ อินเทอร์เน็ต