กสทช.จับตา “ซิมดับ” หลัง “ทรูมูฟ” หมดสัมปทาน ก.ย.นี้

กสทช.จับตา “ซิมดับ” หลัง “ทรูมูฟ” หมดสัมปทาน ก.ย.นี้

กสทช.จับตา “ซิมดับ” หลัง “ทรูมูฟ” หมดสัมปทาน ก.ย.นี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กสทช.จับตา “ซิมดับ” หลัง “ทรูมูฟ” หมดสัมปทาน ก.ย.นี้

“นพ.ประวิทย์”  กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จับตา “ทรูมูฟ” หมดสัมปทานกันยายนนี้ เชื่อจัดประมูลคลื่นไม่ทัน จะมีการฟ้องล้มประมูล เกิดปรากฏการณ์ “ซิมดับ” เพราะไม่มีผู้ให้บริการมารับช่วงต่อได้ทัน แนะผู้บริโภคตื่นตัว หากหวงเบอร์ให้รีบย้ายค่ายแต่เนิ่น ๆ และวางแผนการเติมเงิน เร่งคุยค่ายมือถือขยายความสามารถในการย้ายค่ายเบอร์เดิม

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2556 จะเป็นวันหมดสัญญาร่วมการงานหรือสัมปทานระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อน ที่ "ทรูมูฟ" และ "ดีพีซี" กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ถือเป็นการสิ้นสุดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800  เมกะเฮิร์ตซ์ ทำให้ทรูมูฟซึ่งมีลูกค้า 20 ล้านเลขหมาย และดีพีซีซึ่งมีลูกค้า 200,000 เลขหมาย ไม่สามารถให้บริการต่อไปได้ เพราะเป็นการผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา จึงเชื่อว่าจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ซิมดับ” ผู้ใช้จะใช้งานไม่ได้นับจากวันดังกล่าว  ทั้งนี้ กสทช.ควรจะจัดการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าเพื่อให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ มาดำเนินการต่อเนื่อง  แต่จนขณะนี้เหลืออีกเพียง 8 เดือน คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน อีกทั้งมีแนวโน้มว่า กสท จะตัดสินใจให้บริการต่อโดยไม่คืนสิทธิให้ กสทช.ซึ่งจะตามมาด้วยการฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิในการใช้คลื่นเพื่อล้มการ ประมูล คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้แต่ระบบ 3 จี ที่เป็นคลื่นว่างก็ยังใช้เวลาเป็นปีกว่าการประมูลจะแล้วเสร็จ

ส่วนในด้านผู้บริโภคนั้น นพ.ประวิทย์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการสะดุดในการให้บริการในช่วงรอยต่อ เพราะแม้มีการจัดประมูลได้ทัน แต่หากผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ทรูมูฟ ก็จะต้องมีการให้ลูกค้าร่วม 20 ล้านราย ย้ายค่ายมือถือจากทรูมูฟไปค่ายใหม่ที่ชนะการประมูล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นลูกค้าเติมเงินที่จะต้องประสบปัญหาไม่สามารถย้ายโอนเงินที่เหลือไปได้ ส่วนการขยายเวลาให้ทรูมูฟให้บริการต่อไปก่อนนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายระบุให้ต้องมีการประมูลเท่านั้น

นพ.ประวิทย์ แนะนำว่า ผู้บริโภคที่ใช้เลขหมายของทรูมูฟ หรือดีพีซี ดังกล่าว หากรู้สึกว่าเลขหมายมีความสำคัญ แพร่หลายแล้ว ขอให้ดำเนินการย้ายค่ายผู้ให้บริการก่อนที่จะถึงเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และหากเป็นแบบเติมเงิน ขอให้วางแผนไม่เติมเงินมากเกินไป เพราะการขอถอนเงินออกมาจะมีความยุ่งยาก ขณะที่ได้ให้ทรูมูฟเสนอแผนการแจ้งลูกค้าให้ทราบข้อมูลข่าวสารดังกล่าวล่วง หน้า

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ทางทรูมูฟก็เร่งให้ลูกค้าย้ายค่ายไป "ทรูมูฟเอช" ในเครือบริษัทเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทำไปได้เพียงราวล้านรายเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ระบบการย้ายค่ายมือถือนั้นทำได้วันละ 4,000 ราย บางคนใช้เวลารอนาน 15-30 วัน ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 3 วัน ทาง กสทช.จึงได้หารือกับทุกบริษัทแล้วและวางแผนจะเร่งขยายความสามารถในการย้าย ค่ายมือถือ เพราะอุปกรณ์ที่มีสามารถย้ายได้ถึงวันละ 40,000 เลขหมาย แต่จะต้องขยายให้มากกว่านี้ จึงจะเพียงพอต่อความต้องการย้ายค่ายในปีนี้ ซึ่งค่ายเอไอเอสกับดีแทค ก็จะเร่งให้ลูกค้าสมัครใจย้ายจากระบบ 2 จี เป็นระบบ 3 จี ที่เพิ่งประมูลมาได้ในนามบริษัทใหม่เช่นกัน เพราะจะได้ไม่ต้องหักส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าสัมปทาน

"ค่ายมือถือไทยล็อคจำนวนการย้ายค่ายอยู่ที่รวม 3 ค่าย 4,000 รายต่อวัน เพราะต่างกลัวว่าลูกค้าจะย้ายออก ดังนั้นลูกค้าทรูมูฟ 20 ล้านราย กว่าจะโอนหมดใช้เวลาเป็นสิบปี จากนี้จะต้องเร่งขยายให้เป็นแสนเป็นล้านรายต่อวัน และใช้เวลาให้น้อยลง เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่เพียงแค่ส่งเอสเอ็มเอสเท่านั้น ทั้งนี้ การย้ายค่ายถือเป็นเรื่องของผู้บริโภค  ผู้ให้บริการไม่สามารถตัดสินใจย้ายให้แทนได้ และเชื่อว่าไม่ใช่ทั้ง 20 ล้านคน ของทรูมูฟจะย้ายหมด เพราะหลายคนก็ไม่ได้เสียดายเบอร์" นพ.ประวิทย์กล่าว.- สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook