ICT ไทยพร้อมแค่ไหน ?
การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะถึงนี้ ปัจจัยความพร้อมด้านหนึ่งที่แต่ละประเทศสมาชิก AEC ไม่ควรละเลยที่จะพัฒนาคือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที (Information and Communication Technology : ICT) ประเทศใดมีความพร้อมด้านไอซีทีที่ดีย่อมได้เปรียบ ในยุคปัจจุบันการเข้าถึง ICT เป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาคุณภาพประชากรให้ดี และการที่ประชาชนได้ใช้ ICT ที่มีประสิทธิภาพยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
นอกจากนั้นเมื่อ AEC เกิดขึ้น ICT จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในตลาด AEC อีกด้วย ในคอลัมน์ฉบับนี้เราจะขอพูดถึงความพร้อมด้าน ICT ของประเทศไทยก่อนเข้าสู่ AEC กัน
ประเทศไทยเริ่มใช้งานเทคโนโลยี สารสนเทศเป็นชาติแรก ๆ ในอาเซียน ตัวอย่างเช่นการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2530 ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากการใช้อินเทอร์เน็ตก็เริ่มแพร่หลายตามจังหวัดอื่น ๆ มากขึ้น ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ในปี พ.ศ. 2553 ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 14.6 ล้านคน หรือประมาณ 21.2% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้น ประชากรร้อยละ 55 ใช้อินเทอร์เน็ต และหากเทียบประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลีใต้ที่ประชากรทั้ง ประเทศร้อยละ 60 ใช้อินเทอร์เน็ตหรือเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ประชากรกว่าร้อยละ 33 ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ประเทศไทยยังถือว่ายังมีการพัฒนาในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย
มีการจัดลำดับทาง ICT ของแต่ละประเทศ โดย World Economic Forum ทุกปี
ซึ่ง ในปี พ.ศ. 2556 นี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 77 ขึ้นมาจากอันดับเดิมคืออันดับที่ 74 โดยในการจัดอันดับของ World Economic Forum จะวัดจากองค์ประกอบสำคัญหลายประการด้วยกัน อาทิ โอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความครอบคลุมของการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ความแพร่หลายในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G รวมถึงราคาของการให้บริการคุณภาพของการศึกษาของประเทศ นโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล และการให้บริการของรัฐกับประชาชนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น แม้จะเห็นว่าอันดับ ICT ในปีนี้ของประเทศไทยจะใกล้เคียงกับอันดับเดิม แต่ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศสมาชิก AEC ด้วยกันแล้วคุณภาพ ICT ในประเทศไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อเรามาพิจารณาถึงอันดับ ICT สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 2 ของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ในปีนี้มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 30 ซึ่งดีกว่าอันดับไทยเป็นเท่าตัว จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้าศักยภาพของ ICT ในประเทศไทยจะพร้อมมากเพียงพอที่จะแข่งขันกับ 2 ประเทศนั้นหรือไม่
สำหรับ AEC ที่จะมาถึงนั้น ทางกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ได้มีนโยบายเพื่อพัฒนาระบบ ICT ในประเทศไทยให้พัฒนาเป็นสากลมากยิ่งขึ้น มีความโดดเด่นแข่งขันกับประเทศสมาชิก AEC ด้วยกันได้ โดยกระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้ศูนย์อิเล็คโทรนิคส์ แห่งชาติ หรือ สรอ. ออกโครงการ Government Cloud Service (G-cloud) ซึ่งการนำเทคโนโลยี Cloud Computing มาใช้งานในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้การใช้งาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นไปได้อย่าง
คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูง โดยมีการรวมบริการต่าง ๆ จากแต่ละหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้บริการจากจุดเดียวและเพื่อลดความซ้ำซ้อน ทั้งนี้รัฐสามารถจัดการข้อมูลได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และประชาชนที่มาติดต่องานกับราชการก็จะเสียเวลาน้อยลง
นอกจากนั้น กระทรวงไอซีทียังได้วางแผนจะให้คนไทยได้มีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีก ด้วย โดยได้ทำ โครงการสมาร์ท ไทยแลนด์ (Smart Thailand) โครงการนี้กระทรวงไอซีทีต้องการให้ประชาชนได้ใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้ สาย หรือ Wi-Fiโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในโครงการนี้ไอซีทีตั้งเป้าที่จะให้บริการ Wi-Fi แก่ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 80 ของทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งปีดังกล่าวสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของ AEC พอดี ซึ่งหากสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เชื่อว่าคุณภาพ ICT ของประเทศไทยจะดีขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศที่เด่นด้าน ICT อย่างสิงคโปร์และมาเลเซียได้สูสีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการจะพัฒนาระบบ ICT ให้ดีมากยิ่งขึ้น จุดสำคัญอย่างหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้าน ICT ควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนา ICT โดยนอกจากภาครัฐอาจจะให้มีการจัดการอบรมความรู้ด้าน ICT ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคเอกชนแล้ว ในระดับศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรสอดแทรกหลักสูตรเกี่ยวกับ ICT ให้แก่ผู้เรียนของตนด้วย
การที่ ประชาชนไม่ว่าจะสาขาวิชาชีพใดมีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับ ICT จะช่วยทำให้ ICT ของประเทศไทยพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วแน่นอน เหมือนกับประเทศชั้นนำต่าง ๆ ของโลก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญแล้ว