สะพัดเน็ต! คนไทยโดนมะกันจับ ละเมิดโหลดหนังดูในสนามบิน
สะพัดเน็ต! คนไทยโดนมะกันจับ ละเมิดโหลดหนังดูในสนามบินเมื่อ
วันที่ 18 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และไลน์เกี่ยวกับการที่มีคนไทยเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและจะเดินทางกลับมายัง กรุงเทพมหานคร โดยระหว่างรอขึ้นเครื่องบินที่สนามบินนั้นได้มีการเปิดไอแพด และนั่งดูหนังที่โหลดจากยูทูบ ซึ่งขณะที่กำลังดูอยู่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับและถูกจำคุกนานประมาณ 6 เดือน ทำให้ภรรยาที่อยู่ในประเทศไทยต้องส่งทนายไปประกันตัว และเพิ่งประกันตัวได้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา และถูกเรียกค่าประกันประมาณ 1 ล้านบาท จึงอยากเตือนให้ทราบกันไว้ พร้อมยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะมีหลักฐานหมด กล้องวงจรปิดซูมชัดตามเวลาที่ดูเลย และยังมีการระบุอีกว่ายูทูบเปิดดูได้ แต่ห้ามโหลดเก็บไว้กรณีนี้คือภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์ ประเด็นคือละเมิดลิขสิทธิ์ เตือนคนรอบข้างที่เดินทางกันบ่อยๆ ด้วย
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องดังกล่าวจากนางปฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยนางปฉิมากล่าวว่า เพิ่งเห็นเนื้อความเรื่องที่เกิดขึ้นจากเฟซบุ๊ก ส่วนรายละเอียดของเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไรนั้นขณะนี้ทางกรมอยู่ระหว่างการ ตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยต้องดูว่ามีการกระทำผิดในข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเงื่อนไขอย่างไร หรือไม่ รวมถึงต้องดูว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะต้องตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดที่เป็นแบบสากลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่อาจระบุรายละเอียดได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดหรือ เป็นการถูกละเมิด คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้น่าจะได้เห็นความชัดเจน
น.อ.อนุ ดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า การจะตัดสินว่าจะเข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางคอมพิวเตอร์หรือไม่ ต้องอาศัยการดูปัจจัยประกอบในหลายด้านด้วยกัน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อกล่าวหา ไปจนถึงเหตุแห่งพฤติกรรมของผู้ที่ถูกกล่าวหานั้น อย่างไรก็ตาม จากกรณีเดียวกัน หากเกิดในประเทศไทย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่เปิดให้มีการโหลดภาพยนตร์ หรือไฟล์ต่างๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ผ่านทางเว็บไซต์หรือโปรแกรมต่างๆ ทั้งที่เป็นของตนเองและผู้อื่น เจ้าของเว็บไซต์ผู้ที่ปล่อยให้มีการดาวน์โหลด ผู้นำภาพยนตร์หรือไฟล์นั้นๆ มาเผยแพร่ และผู้ที่กระทำการดาวน์โหลด จะเข้าข่ายเป็นผู้ที่กระทำความผิดทันที แต่ทั้งนี้การที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายจะดำเนินการกับผู้ที่กระทำความ ผิดได้ จะต้องเกิดจากการร้องเรียนของผู้ที่เสียหายเท่านั้น
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ผู้นำไฟล์ต่างๆ และผู้โหลดไฟล์ต่างๆ ที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์มาเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตจะเข้าข่ายมีความผิดเท่า นั้น แต่บางกรณีการที่มีผู้ซื้อภาพยนตร์ หรือโปรแกรมต่างๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายระบุให้ใช้ภายในบ้านเรือนเท่านั้น แต่ภายหลังพบว่า ถูกนำมาใช้ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ ผู้ให้บริการนั้นก็เข้าข่ายมีความผิดได้เช่นกัน
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2556