ซิมดับเป็นเรื่องจนได้!! บอร์ด"กทค"ฟ้องหมิ่นประมาท "เดือนเด่น"ทีดีอาร์ไอ

ซิมดับเป็นเรื่องจนได้!! บอร์ด"กทค"ฟ้องหมิ่นประมาท "เดือนเด่น"ทีดีอาร์ไอ

ซิมดับเป็นเรื่องจนได้!! บอร์ด"กทค"ฟ้องหมิ่นประมาท "เดือนเด่น"ทีดีอาร์ไอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซิมดับเป็นเรื่องจนได้!! บอร์ด"กทค"ฟ้องหมิ่นประมาท "เดือนเด่น"ทีดีอาร์ไอ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งประกอบด้วยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ , นายสุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 โดยมี นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

ในบรรยายฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2556 นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ได้ใส่ความอันเป็นเท็จ กล่าวโจมตีการทำหน้าที่ของ กสทช. และกรรมการ กทค. รวมถึงสำนักงาน กสทช.  ต่อสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน สื่อออนไลน์ และรายการ "ที่นี่ Thai PBS" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  โดยมีนางสาวณัฏฐา โกมล เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศไปทั่วประเทศ กรณีที่ กทค. ได้ออกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... (ประกาศห้ามซิมดับ) เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คงค้างอยู่ในระบบในกรณีสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงในวันที่15 กันยายน 2556

โดยนางเดือนเด่น มีการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศดังกล่าว โดยให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า “กสทช. จะขยายระยะเวลาให้เอกชนมีสิทธิถือครองคลื่น 1800 MHz ออกไปอีก 1 ปี โดยออกเป็นร่างประกาศห้ามซิมดับจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หาก กสทช. รับฟังข้อเสนอตั้งแต่ที่อนุกรรมการ 1800 MHz เสนอตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 แต่บอร์ด กทค. กลับไม่สนใจ” และ “รัฐสูญเสียรายได้ 1.6  แสนล้านบาท จากการเลื่อนประมูล 4 จี พร้อมอ้างว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามผลวิจัยของสถาบันอนาคตประเทศไทยที่เคยประเมินความเสียหายจากความล่าช้าประมูลใบอนุญาตให้บริการ3 จี ในย่านความถี่ 2100 MHz

ซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งนางเดือนเด่น ร่วมเป็นอนุกรรมการฯ ด้วยนั้น ยังไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอตามที่มีการให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด แม้ในช่วงต้นปี 2556  จะมีการเสนอรายงานและข้อเสนอแนะมาให้ กทค. พิจารณา แต่ก็เป็นเพียงข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการฯ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีเพียงมติรับทราบเท่านั้น

โดยนางเดือนเด่น ได้เคยเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยว่า กสทช. จะสามารถยืดเวลาการใช้คลื่นความถี่ให้เอกชนจะเป็นการเอื้อประโยชน์และจะถูกครหา แต่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว และได้นำเสนอรายงานฯ ต่อที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 

ดังนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 นางเดือนเด่น จึงย่อมคาดหมายได้ว่า หากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอตามรายงานฯ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการต่าง ๆ นับแต่ กทค. เห็นชอบตามรายงานฯ จนถึงการประกาศผลการประมูลไม่น้อยกว่า 10-11 เดือน โดยระยะเวลาที่จะได้ผู้ชนะการประมูลที่เร็วที่สุดประมาณเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ 2557  ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน 1800 MHz ในเดือนกันยายน 2556 ไปแล้ว แต่กลับให้สัมภาษณ์เท็จข้างต้นโดยรู้อยู่ว่าระยะเวลานั้นไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

 นอกจากนี้หลังจากที่ กทค. มีมติเห็นชอบประกาศห้ามซิมดับและเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศห้ามซิมดับดังกล่าว กทค. ได้มีการชี้แจงต่อสื่อต่างๆ ต่อข้อตำหนิของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กทค. ดังกล่าวและกล่าวหา กสทช. ว่าไม่ได้ดำเนินการอะไรในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยเมื่อสำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศห้ามซิมดับในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 หลังจากนั้น นางเดือนเด่นก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างๆ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า กสทช. และ กทค. ทำให้ประเทศและประชาชนเสียหายเบื้องต้น 1.6 แสนล้านบาท ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง กทค. ยังไม่เคยมีมติกำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHZ แต่อย่างใด 

 โดย กทค. เพิ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 26/2556 เมื่อวันที่ 31กรกฎาคม 2556 อนุมัติกรอบระยะเวลาของกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกันยายน 2557 เป็นครั้งแรกที่มีความแน่นอนและเป็นทางการ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่มีเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้การที่นางเดือนเด่น หยิบยกความเสียหายจากการเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ย่าน 2.1 GHz ข้างต้น ซึ่งเป็นคนละประเด็น คนละเหตุการณ์ และคนละปัจจัยมาโจมตี กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. ดังกล่าว ทั้งที่เมื่อพิจารณาตามหลักวิชาการ หรือตามความเข้าใจของวิญญูชนโดยทั่วไป

 ประกอบกับอยู่ในวิสัยและศักยภาพที่นางเดือนเด่นสามารถเข้าใจและตรวจสอบความถูกต้องได้ เนื่องจากดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทีดีอาร์ไอ จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ และเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกิจการโทรคมนาคมเป็นอย่างดีว่าไม่สามารถนำข้อมูลความเสียหายดังกล่าวมาปรับใช้ แล้วสรุปว่า กสทช. กทค. กรรมการ กทค. และสำนักงาน กสทช. ทำให้ชาติเสียหายในจำนวนมหาศาลดังกล่าวได้

 เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและปัจจัยต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันและสถานการณ์การใช้งานคลื่นความถี่ก็มีความแตกต่างกัน โดยคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เป็นคลื่นว่างที่ไม่มีการใช้งาน แต่คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังมีการใช้งานอยู่ หากมีการเร่งรัดการประมูลโดยละเลยปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอาจทำให้ประเทศชาติเสียหายยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเดือนเด่น เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ทำงานใกล้ชิดกับองค์กร ตั้งแต่สมัย กทช. มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

 ทั้งนี้เมื่อ กสทช. ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาของกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก็ย่อมไม่มีการเลื่อนการประมูล จึงไม่มีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ ตามที่นางเดือนเด่นให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

 ดังนั้น การที่นางเดือนเด่นให้สัมภาษณ์ใส่ความเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเป็นการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลได้ว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อบุคคลหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ทั้งคาดหมายได้ว่า การให้ความเห็นในทางวิชาการในเรื่องใดที่มิได้มีการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อสาธารณะอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมของประเทศที่อยู่ในช่วง ของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่การแข่งขันโดยเสรีและอยู่ในระหว่าง เตรียมการเพื่อประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศชาติจำนวนมหาศาล และการดำเนินการดังกล่าวจะให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐ ธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนดให้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและ ประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นทั้งในส่วน ของการลงทุน หลักเกณฑ์การกำกับดูแล และความน่าเชื่อถือของหน่วยงานกำกับดูแล

 ทั้งนี้ผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีผลเป็นการทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือในองค์กรกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้หน้าที่ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ หากแต่ยังทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงระบบการกำกับดูแลของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

 พฤติการณ์การให้สัมภาษณ์ของนางเดือนเด่นจึงทำให้เชื่อโดย ปราศจากข้อสงสัยว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่ไม่สุจริตกล่าว ให้ร้ายและใส่ความเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริงมุ่งหมายให้ กสทช. กทค. และกรรมการ กทค. รวมถึงสำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าว เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งมิได้คำนึงต่อผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไป ที่ไม่ทราบความจริง เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังข้อความดังกล่าวย่อมจะทำให้เชื่อได้ว่า กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศชาติดังกล่าวจริง

 อีกทั้งทำให้เชื่อว่า กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่โปร่งใส มีการเอื้อให้เอกชนใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอีก 1 ปี ทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล ทั้งในฐานะที่เป็น กสทช. กทค. และในส่วนตัวที่เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว รวมถึงเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์และความศรัทธาจากประชาชน

 เกิด ความเข้าใจผิดว่า เป็นองค์กรที่มีความไม่เป็นกลาง ทุจริต ซึ่งกรรมการ กทค. เป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติที่ดี ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยในการปฏิบัติหน้าที่มาก่อน การถูกใส่ร้ายในลักษณะนี้ในการทำงานในตำแหน่งที่อยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ มหาศาลและในช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการเปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ทั้งต้องจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ประชาชน ทั้งผู้ประกอบกิจการที่ กสทช. โดย กทค. ต้องกำกับดูแลเกิดความหวาดระแวง กทค. ว่าจะดำเนินการที่ไม่เป็นกลางเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย 

 การกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบ รวมทั้งสร้างความเสียหายและเสื่อมเสียต่อ กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 ทั้งนี้โจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องขอให้ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 (ความผิดฐานหมิ่นประมาท) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 328 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา) ซึ่งเป็นโทษที่หนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท     

 ในบรรยายฟ้องยังระบุด้วยว่า การให้สัมภาษณ์ใส่ความต่อโจทก์ทั้งห้า ในลักษณะเป็นเท็จต่อสื่อหนังสือพิมพ์และในรายการโทรทัศน์ "ที่นี่ Thai PBS" มีจำหน่ายแพร่หลาย และออกอากาศแพร่กระจายสัญญาณทั่วราชอาณาจักรไทย เหตุคดีนี้ จึงเกิดขึ้น ทุกตำบล อำเภอ จังหวัด ในราชอาณาจักรไทย

 ดังนั้นโจทก์ทั้งห้า จึงอาจใช้สิทธิฟ้องร้องคดีในเขตอำนาจศาลได้ทั่วราชอาณาจักรอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook