เมื่อตลาดดีไวซ์อิ่มตัว ใครจะอยู่รอด?

เมื่อตลาดดีไวซ์อิ่มตัว ใครจะอยู่รอด?

เมื่อตลาดดีไวซ์อิ่มตัว ใครจะอยู่รอด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อตลาดดีไวซ์อิ่มตัว ใครจะอยู่รอด?

เวลามีคนถามว่าใครที่เป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมในโลกยุคสมัยใหม่ ชื่อแรกที่คนจะนึกถึงก็มักจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ ที่ไม่สามารถแยกออกจากแบรนด์ Apple ได้เลย ส่วนเวลามีคนถามว่า แล้วใครคือคู่แข่ง Apple?

ก่อนหน้านี้อาจจะตอบยากสักหน่อย แต่หลังจากที่จ็อบส์ลาโลกไป (พร้อมกับทิ้งคำสุดท้ายว่า Oh wow. Oh wow. Oh wow. ไว้ให้กับมวลมนุษยชาติ) ก็เริ่มจะเห็นเด่นชัดขึ้นมาสักหน่อยว่าบริษัทเทคโนโลยีที่ขอท้าเร่งเครื่อง พุ่งชน Apple รัวๆ ก็คือ Samsung นั่นเอง

แม้กระทั่งซู่ชิงเองก็เผลอหลงลืมไปบ้างในบางครั้ง คิดว่าสองค่ายนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมาที่จะต้องจับตามองอย่างเหนียวแน่นที่สุด

ลืมไปค่ะ ว่ามีอีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญไม่แพ้กัน มีอีกบริษัทหนึ่งที่ผูกติดมากับตัวละครนั้น และเป็นตัวละครที่ซู่ชิงเองยังเคยทำนายและลุ้นไว้ด้วยว่าจะมาเป็นผู้กุม บังเหียนการสร้างความแตกต่างและสีสันให้กับโลกใบนี้ต่อจาก สตีฟ จ็อบส์ เขาผู้นั้นมีนามว่า เจฟฟ์ เบโซส จาก Amazon ค่ะ

สาเหตุ ที่นึกถึงเบโซสขึ้นมาก็เพราะว่าเมื่อไม่นานมานี้ Amazon เพิ่งจะเปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Kindle Fire โดยที่ออกมา 2 รุ่นด้วยกัน ก็คือรุ่นหน้าจอขนาด 7 นิ้ว และ 8.9 นิ้ว

ซึ่งถ้าหน้าจอขนาดนี้ก็บอกได้ทันทีเลยว่าท้าชนในสนามแข่งเดียวกันกับ iPad mini แน่นอน

และเมื่ออ่านสเป็กแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องรู้สึกประทับใจ เพราะใช้ทั้งซีพียู Snapdragon 800 ทรงพลังที่ยังไม่เคยมีแท็บเล็ตรุ่นไหนใช้มาก่อน

มีหน้าจอแบบ HDX ที่มีความหนาแน่นของพิกเซลต่อนิ้วสูงล้ำ และฟีเจอร์อื่นๆ ที่จับใส่เข้ามาแบบไม่มีกั๊กว่าจะต้องเก็บไปใส่ในรุ่นถัดไป

ทั้งหมดนี้ในราคาเริ่มต้นของรุ่นหน้าจอ 7 นิ้ว ที่ $229 หรือราวๆ 7 พันกว่าบาทเท่านั้น

ถ้าจะมาหาคำตอบกันว่าเพราะอะไร Amazon ถึงขายสินค้าของตัวเองในราคาที่ดูเหมือนกับแทบจะไม่ทำกำไรอะไรเลย

ก็ต้องมาย้อนดูแนวคิดและทำความรู้จักกับผู้ที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังอย่างเบโซสกันก่อน

เจฟฟ์ เบโซส เป็นคนที่ทำให้เว็บไซต์ Amazon.com กลายเป็นร้านค้าปลีกออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเปลี่ยนนิสัยการซื้อ สินค้าของผู้บริโภคไปโดยสิ้นเชิง

เขาเป็นผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ (ถึงจะไม่ได้บริหารองค์กรใหญ่ขนาดนี้ก็เถอะ) ไม่มีเวลาแม้แต่จะชำเลืองตามามอง

เขาเป็นคนที่อยากรู้เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบริษัท

คนใกล้ตัวเขาเล่าว่าแม้กำลังจะอยู่ในระหว่างการประชุมสำคัญแต่เบโซสก็แทบจะ ไม่มีสมาธิมานั่งฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุม เพราะมัวแต่ยุ่งขิงอ่านอีเมลที่ลูกค้าส่งเข้ามาบ่น Amazon ด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้น ก็มั่นใจได้ว่าคนที่มีนิสัยแบบนี้จะต้องใส่ใจความต้องการของลูกค้าเป็นลำดับ แรกๆ และรู้จักธรรมชาติของลูกค้าในยุคสมัยนี้เป็นอย่างดี

ซึ่งการใส่ใจลูกค้าที่ว่านี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นในฟีเจอร์ล่าสุดที่ Amazon คิดค้นขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าต่อไปในอนาคตก็จะเป็นฟีเจอร์ที่ทุกบริษัทต้องใส่เอาไว้ในสมาร์ต โฟนและแท็บเล็ตระดับไฮเอนด์ทุกรุ่นด้วย

มันก็คือปุ่ม Mayday ที่เพียงแค่กดปุ่ม ผู้ใช้งาน Kindle Fire ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่จะโผล่มาเป็นวิดีโอ กรอบเล็กๆ คอยตอบคำถาม คลายข้อสงสัย และช่วยแก้ปัญหาให้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่แคร์เสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

รับประกันว่าจะตอบกลับภายใน 15 วินาทีหลังจากกดปุ่ม และจะเป็นการสื่อสารเห็นภาพแบบทางเดียว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวเลยค่ะว่าจะอยู่ในสภาพไม่พร้อมรับแขก ใส่เสื้อเปิดพุง มาร์กหน้า หรือมีเพียงกางเกงในตัวเดียวอยู่

ฟีเจอร์ Mayday นี่แหละที่ซู่ชิงมองว่าจะเป็นฟีเจอร์ที่สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของ Amazon คนที่เป็นลูกค้าของ Amazon รู้ดีว่าเวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นเราไม่เคยกลัวเลย เพราะเพียงแค่กดปุ่ม Live Chat ก็จะสามารถคุยกับพนักงานได้สดๆ ซู่ชิงแชตทีไร พนักงานก็แก้ปัญหาให้ทุกครั้ง แถมบางครั้งชดเชยความผิดพลาดมากกว่าที่เราร้องขอด้วย

นี่เป็นจุดแข็งที่สำคัญของ Amazon

และเบโซสก็มองตรงนี้ได้อย่างทะลุทะลวง แล้วก็นำจุดแข็งของบริษัทมาผนวกเอาไว้กับดีไวซ์ในแบบที่เราไม่คาดคิดกันเลย อันนี้เจ๋งจริงๆ ต้องยกนิ้ว (โป้ง) ให้

แม้จะมีการหยิบยก ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวขึ้นมาพูดถึง หรือจะมีคนปรามาสเอาไว้ว่าไม่เวิร์กหรอก เบโซสก็บอกว่าทุกอย่างที่ Amazon ทำมาตั้งแต่อดีตก็ล้วนเป็นสิ่งที่คนรอบตัวบอกว่า "ไม่เวิร์กหรอก" กันทั้งนั้น

อย่างในปี 1994 การกรอกข้อมูลบัตรเครดิตลงไปบนอินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากเสี่ยง

และสุดท้ายมันก็กลายเป็นกิจกรรมที่ทำกันอย่างสามัญไปแล้ว

นอกจากการใส่ใจลูกค้าเป็นอันดับแรกแล้ว เบโซสมีอีกจุดยืนที่ทำจนติดตลาดและเป็นความรับรู้ของผู้บริโภคไปแล้ว คือการยืนยันตั้งราคาสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์ของตัวเองให้ต่ำเอาไว้ก่อน (ทั้งแท็บเล็ต Kindle Fire และเครื่องอ่านหนังสืออีรีดเดอร์ Kindle)

เขาจะขายฮาร์ดแวร์ด้วยราคาที่แทบจะเท่าทุน และไม่หวังทำกำไรกับการขายฮาร์ดแวร์เลย เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่านั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ ลูกค้าซื้ออุปกรณ์ไปแล้ว นั่นก็คือการซื้อ "คอนเทนต์" หรือเนื้อหาจำนวนมหาศาลที่ Amazon ครอบครองเป็นเจ้าของอยู่

สำหรับเขาแล้วอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต หรืออีรีดเดอร์เป็นเพียงแค่ประตูทางเข้าที่เปิดไปสู่คลังความรู้และความ บันเทิงสุดลูกหูลูกตาและเม็ดเงินอีกนับไม่ถ้วน

Amazon ทำรายได้จากการขายทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ เกม และคอนเทนต์อื่นๆ ในรูปแบบดิจิตอล เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่ฉลาดนักถ้าจะไปตัดกำลังลูกค้าด้วยการตั้งราคาฮาร์ดแวร์ไว้แพง ลิบลิ่วตั้งแต่แรก จนกระเป๋าฉีกไม่มีเงินจะใช้จ่ายต่อ

เห็นได้ชัดว่าเป็นโมเดลและรูปแบบความคิดที่แตกต่างจาก Apple (และค่ายอื่นๆ อีกหลายค่าย) โดยสิ้นเชิง เพราะโมเดลที่บริษัทอย่าง Apple ใช้ก็คือการตั้งราคาฮาร์ดแวร์เอาไว้สูงๆ ก่อน ด้วยความหวังว่าเมื่อลูกค้าควักกระเป๋าซื้อ บริษัทไม่เพียงแต่จะไม่ขาดทุนทันทีเท่านั้นแต่ยังทำกำไรได้อีกเป็นเท่าตัวใน ช่วงวินาทีนั้น

ช่วยไม่ได้ที่บริษัทอื่นก็ต้องใช้โมเดลแบบเดียวกันนี้เพราะไม่มีคอนเทนต์เอาไว้บริการลูกค้าหลังการขาย

โมเดลนี้ Amazon ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มทำด้วย เพราะทำมาตั้งแต่เปิดตัว Kindle เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่รุ่นต่ำสุดราคาเพียงแค่ $69 เท่านั้น

ลองนึกภาพว่า บริษัทเทคโนโลยีอื่นเสิร์ฟลูกบอลด้วยการเน้นขายอุปกรณ์ไฮเทคราคาแพง Amazon ก็เสิร์ฟกลับไปด้วยอุปกรณ์ราคาถูกแต่คอนเทนต์เด่น และเน้นการใช้งานอุปกรณ์ได้นานๆ แบบไม่ต้องตะเกียกตะกายเปลี่ยนทุกปี

ตอนนี้สถานการณ์ก็เลยพลิกผันกลับกลายเป็นว่าบริษัทคู่แข่งจะต้องนำโจทย์นี้ มาคิดใหม่แล้วว่าจะงัดกลยุทธ์ไหนออกมาสู้เพื่อชักจูงให้ลูกค้าซื้ออุปกรณ์ ใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Apple และ Amazon ได้เปรียบบริษัทอื่นๆ ก็คือ บริษัททั้งสองแห่งนี้ไม่ได้แค่ผลิตดีไวซ์ออกมาขายเปล่าๆ แต่มีคอนเทนต์จำนวนมากรอให้ลูกค้าใช้จ่ายกันอีกนานแสนนานหลังจากนั้น

Apple บุกเบิกเรื่องเพลง

Amazon ก็บุกเบิกเรื่องหนังสือ อีกบริษัทหนึ่งที่เริ่มเข้าข่ายแต่ก็นับว่ายังมือใหม่ในวงการอยู่พอสมควรก็คือ Google

ก่อนหน้านี้เราอยู่กันในยุคที่วัดคนแพ้ชนะกันที่ความสามารถในการออกเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมที่ตื่นตาตื่นใจ และสเป็กที่สูงและแรง

แต่ตอนนี้วงการเทคโนโลยีก็ไม่ได้แตกต่างจากวงการโทรทัศน์เลย จะใช้แพลตฟอร์มอะไรก็เถอะขอให้เข้าถึงใจความสำคัญได้ก็พอแล้ว ทุกอย่างถูกดึงมาอยู่ที่ "คอนเทนต์" ล้วนๆ

และในอนาคตอันใกล้เมื่อตลาดดีไวซ์เริ่มถึงจุดอิ่มตัว คนที่จะอยู่รอดอย่างสง่าผ่าเผยที่สุดก็คือคนที่มีคอนเทนต์เป็นของตัวเอง

Content will be king เนื้อหาจะเป็นราชาอย่างแท้จริง

คอลัมน์ Cool Tech / มติชนสุดสัปดาห์ จิตต์สุภา ฉิน @Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook