เมื่อหมดยุค "ศึกแอนดรอยด์-ไอโอเอส"
เมื่อหมดยุค "ศึกแอนดรอยด์-ไอโอเอส"
ถ้ามองย้อนหลังไปดูจุดเปลี่ยน ครั้งล่าสุด ผมแนะนำให้หวนนึกไปถึงเมื่อสักราว 6-7 ปีก่อน ตอนที่กูเกิลเพิ่งตัดสินใจซื้อกิจการ "ยูทูบ" ด้วยเม็ดเงินมหาศาลถึง 1,650 ล้านดอลลาร์ นั่นคือราวๆ ปลายปี 2006 นั่นแหละครับ
ตอนนั้น "ทวิตเตอร์" ยังไม่มี "เฟซบุ๊ก" เพิ่งอายุแค่ไม่กี่เดือน ในฐานะเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการทั่วไป ตอนนั้นโนเกีย ยังมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนอยู่เกินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ และแบล็กเบอร์รี่ ยังผงาดอยู่ในยุทธจักร
ยังไม่ถึง 7 ปีดี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกิน ตอนนี้กูเกิลมีบัญชีผู้ใช้ "แอนดรอยด์" อยู่ในมือเกิน 1,000 ล้านคนไปแล้ว ในขณะที่แอปเปิลเอง ไอโอเอส ก็กำลังจะผ่านหลัก 700 ล้านยูสเซอร์ ในอีกไม่ช้าไม่นาน และเมื่อเล็งไปที่ยูทูบ ตอนนี้มีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคน จากทั่วทุกมุมโลก ส่วนเฟซบุ๊กเองก็มียูสเซอร์มากถึง 1,200 ล้านคนแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจมากยิ่งกว่าก็คือ ในจำนวนกว่าพันล้านคนที่เข้าไปดู "ยูทูบ" นั้น 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเข้าถึงเว็บไซต์นี้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (ทั้งโทรศัพท์และแท็บเล็ต) เฟซบุ๊กเองเชื่อว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทจากสมาร์ทโฟนจะเพิ่มจาก 41 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 30 ตุลาคมที่จะถึงนี้
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ เพิ่มจากศูนย์เป็นกว่า 230 ล้านคน และมีสัดส่วนรายได้สูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จากอุปกรณ์โมบาย
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น อาการ "เลือดสาด" และ "ล้มหายตายจาก" มีให้เห็นมากมายตามรายทาง หลายรายถูกบีบให้หายหน้าหายตาไป โดยเฉพาะผู้ผลิตโทรศัพท์จากญี่ปุ่น อย่างเช่น เอ็นอีซี, พานาโซนิค, ชาร์ป ฯลฯ โนเกีย ตกไปอยู่ใต้ปีกของ ไมโครซอฟท์ ส่วนโมโตโรลา เพิ่งโผล่มาให้เห็นอีกครั้งภายใต้ร่มเงาของกูเกิล แอปเปิล เปิดศึกในทุกรูปแบบกับซัมซุง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ "กาแล็กซี" ชนิดที่สามารถต่อสู้ช่วงชิงความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนกับ "ไอโฟน" ได้อย่างแหลมคมและถึงพริกถึงขิง
แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ผลิตหน้าเก่าหน้าใหม่ก็พาเหรดเข้ามาร่วมวงด้วยอุตลุด ไม่ว่าจะเป็นหัวเหว่ย, แอลจี, โซนี, แซดทีอี แม้กระทั่งเซี่ยวมี น้องใหม่ที่มาแรงในตลาดท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีน
การแข่งขันที่ว่านี้ ในทางหนึ่งเกิดขึ้นจากความรวดเร็วในการอ้าแขนต้อนรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์โมบายของผู้ใช้ที่ทำให้ตลาดขยายใหญ่เรื่อยๆกดดันให้ผู้ผลิตทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ต้องคิดค้นนวัตกรรมต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
ที่น่าสนใจก็คือ นวัตกรรมต่างๆ เหล่านั้น พัฒนาขึ้นภายใต้สภาวะแวดล้อม (อีโคซิสเต็มส์) หลักๆ เพียง 2 อย่างเท่านั้นคือ ถ้าไม่เป็นแอนดรอยด์ ก็เป็นไอโอเอส ที่ทำให้สงครามระหว่างซัมซุงกับแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ดุเดือดมาโดยตลอด
แต่ว่ากันว่าอีกไม่ช้าไม่นาน สภาพแข่งขันจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
เหตุผลประการแรกสุดก็คือ พัฒนาการหรือนวัตกรรมในด้านฮาร์ดแวร์กำลังถึงจุด "เปลี่ยน" อีกครั้งหนึ่งแล้ว นอกจากจะมีความฮือฮาของหน้าจอแบบโค้งงออย่าง "แอลจี เฟล็กซ์" กับ "กาแล็กซีราวด์" ออกมา แต่ข้อจำกัดของรูปแบบอุปกรณ์กำลังหมดไปเรื่อยๆ กลายไปอยู่ในหรือเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์ หรือเครื่องรับโทรทัศน์ นี่ยังไม่นับ อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบโมบายที่ "สวมใส่ได้" ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล กลาส หรือกาแล็กซี เกียร์ เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์อีกมากมายไม่ใช่น้อยในทำนองนี้
นั่นทำให้การยึดติดอยู่กับแอนดรอยด์ หรือไอโอเอส กลายเป็นข้อจำกัดไปในตัว
นี่อาจเป็นที่มาของข่าวเล่าลือที่บอกว่า กาแล็กซี เอส 5
อาจไม่ใช่ "แอนดรอยด์" อีกต่อไป แต่เป็น "ไทเซน" ของซัมซุงโดยเฉพาะ เป็นต้น
ประการสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทุกรายอาจจำเป็นต้องมองหาอะไรที่เป็น "พิเศษ" สำหรับตอบสนอง "ยูสเซอร์หลัก" ของตัวเอง พร้อมๆ กับที่ต้องตอบสนองต่อนักการตลาดที่เป็นที่มาของรายได้หลักของตัวเองเช่นเดียวกัน ตลาดจะไม่เป็นตลาดแบบถัวเฉลี่ยกันไปเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป
ถึงตอนนั้น จะมีใครบาดเจ็บล้มตายกันอีกบ้างน่าสนใจติดตามนะครับ!
ที่มา : นสพ.มติชน
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th