3 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไปตลอดกาล

3 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไปตลอดกาล

3 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไปตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไปตลอดกาล

นิตยสาร MIT Technology Review สรุป 3 เทคโนโลยีสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนมากที่สุดในยุคนี้ ชาร์จพลังงานไร้สาย , การเชื่อมต่อและเข้าถึง Cloud Computing และ การค้นหาข้อมูลจากความต้องการบริบทของบุคคล


ผู้คนกำลังจับตามองว่าต่อจากนี้ไป เทคโนโลยี อะไรอีกบ้างที่จะมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ เพราะนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุคสื่อสารไร้พรมแดน อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าโฟกัสของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในทศวรรษนี้จะยังคงมุ่งไปที่อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และ การสื่อสาร ซึ่งแทบจะกลายเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ในระดับความจำเป็นใหล้เคียงกับไฟฟ้า โดยนิตยสารของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ MIT Technology Review ได้ลงบทความในเล่มล่าสุด เขียนโดย John Pavlus ซึ่งสรุปว่าจะมีเทคโนโลยี 3 ประการด้วยกันที่จะสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนนับจากนี้ไป ซึ่งไม่ใช่ Jetpack หรือ Google Glass ที่ในวงการพัฒนาเทคโนโลยีพากันมองว่าเป็นเรื่องโจ๊ก (เขาบอกว่า "เราจะสร้าง Jetpack ได้ไหม? ได้แน่นอน แต่ใครบ้างที่ต้องการมัน..ผมว่าไม่มีนะ) แต่เป็นคอนเซ็ปต์เทคโนโลยี 3 ประการที่ซับซ้อนน้อยกว่า แต่มีเหตุผลมากกว่าดังต่อไปนี้

1. การชาร์จแบตเตอรี่แบบไร้สาย

การชาร์จแบตเตอรี่ให้กับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งหลาย กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว และกำลังได้รับการยอมรับในวงการนักพัฒนา และความนิยมในตลาดผู้บริโภคอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจุดประสงค์หลักของมันเช่น "ให้แบตฯ สมาร์ทโฟนของเรามีพอใช้งานอยู่เสมอ" แล้ว ยังหมายถึงการตัดตอนเส้นสายระโยงระยางให้หมดไปด้วย


โดยมีการนำไปต่อยอดดัดแปลงให้แท่นชาร์จอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นพื้นผิวที่ "Built-in" มาพร้อมกับ สิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ รถยนต์ โต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน ผนังห้อง ฯลฯ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติ ก็เริ่มมีให้บริการแล้ว อย่างที่นครตูรินของอิตาลี เป็นต้น หากแบตฯโทรศัพท์หมดเกลี้ยงในสถานการณ์ที่กำลังรอให้ใครมารับที่สนามบิน การมีเวลาและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกว่าช่องเสียบปลั๊ก เพื่อชาร์จแบตฯให้ได้สัก 15% นับว่าล้ำค่าอย่างมาก ขณะที่ในวงการเทคโนโลยียานยนต์ก็มีการใช้คอนเซ็ปต์การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว เช่นคอนเซ็ปต์คาร์ The Infiniti LE (ภาพข้างบน)

2. Cloud Computing

Cloud Computing ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป และ ผู้คนเริ่มจะคุ้นเคย ปรับตัวนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวันกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น E-Mail หรือ Storage พื้นที่ในการเก็บข้อมูลซึ่งผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดลงมาใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาที่มีอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามคอนเซ็ปต์ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตครั้งสำคัญในเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คือการปล่อยให้ขั้นตอนการประมวลผลเป็นหน้าที่ของ Cloud Computing ด้วย ไม่ใช่แค่ "พื้นที่" เก็บของเท่านั้น

ซึ่งก็จะหมายความว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อาจจะไม่ต้องการหน่วยประมวลผลภายในเครื่องที่ทรงประสิทธิภาพอะไรมากมายอีกต่อไป และสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการคือหน้าจอแสดงผล และ Human Interface อย่างคีย์บอร์ด หรือ เมาส์เท่านั้น ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้เป็นจริงแล้วเช่น Chromebooks โดย Google และ Project Ophelia ของ Dell ที่กำลังพัฒนาอยู่ และคาดว่าจะเข้าถึงผู้บริโภคโดยทั่วไปในอีกไม่ช้า ขณะที่ IBM ก็กำลังโปรโมตบริการใหม่ Smart Cloud สำหรับการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร

3. การค้นหาข้อมูลจากความต้องการบริบท( Contextual Search) และ แอปพลิเคชัน

ชื่อคอนเซ็ปต์อาจเข้าใจยาก และฟังดูกว้างๆ แต่หากนึกถึงแอปพลิเคชันอย่าง Google Now และ Siri อาจจะร้องอ๋อ และเข้าใจทันทีว่า Contextual Search คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น Google Now จะอาศัยข้อมูลจำเพาะของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นโลเกชัน หรือ ข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อแสดงผลข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้โดยตรง

ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ สภาพการจราจร ไปจนถึงโปรโมชันของร้านอาหารใกล้ๆที่ผู้ใช้น่าจะชื่นชอบ ส่วน Siri ของ Apple ก็เป็นการค้นหาในลักษณะใกล้เคียงกัน พร้อมลูกเล่นการแปลความหมายของคำสั่งเสียงมนุษย์(เพื่อไปทำหน้าที่ค้นหาให้ผู้ใช้) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าผู้บริโภคชื่นชอบเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เปิดตัวพร้อมกับ iPhone 4 และสิ่งที่ท้าทายสำหรับการเสิร์ชจากพื้นฐานบริบทคือ ใครจะช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลได้ละเอียดและมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันของผู้ใช้มากกว่ากัน เช่น "อีกกี่นาทีรถเมล์ที่จะผ่านเส้นทางจะมาถึงป้าย" "คิวหน้าร้านอาหารญี่ปุ่นใกล้บ้านยาวแค่ไหน" ฯลฯ

แม้แต่ Facebook ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็ยังเปิดตัว Graph Search ซึ่งเป็นการค้นหาความต้องการบริบทของผู้ใช้เช่นเดียวกัน ทั้งภายในระบบของ Facebook เอง และจากภายนอกผ่าน Bing ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญว่า Contextual Search จะเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนในยุคออนไลน์ข้างหน้า และเป็นเรื่องดีที่จะเริ่มศึกษา ทำความรู้จัก และทดลองใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ

Source : AFP (ภาพ The Infiniti LE)/AFP Relaxnews

ที่มา: news.voicetv.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook