"ค่ายมือถือ-ผู้ผลิต" ผนึกกำลังบูม 3G กดราคา "สมาร์ทโฟน" เหลือพันบาท
"ค่ายมือถือ-ผู้ผลิต" ผนึกกำลังบูม 3G กดราคา "สมาร์ทโฟน" เหลือพันบาท
ฟันธงได้เห็น "สมาร์ทโฟน" จอทัชสกรีนระดับพันบาท-จุดเริ่มต้นอวสาน "ฟีเจอร์โฟน" ชี้ต้นทุนเทคโนโลยีถูกลง "ค่ายมือถือ-ผู้ผลิตเครื่อง" ผนึกดึงลูกค้าย้ายจาก 2G มา 3G อัดโปรโมชั่น-ลดค่าโทร. จูงใจ เฮาส์แบรนด์ "จีเนท" ถล่มสู้ศึกสมาร์ทโฟน "ไอ-โมบาย" เน้นร่วมมือโอเปอเรเตอร์
นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป้าหมายของดีแทคในปีหน้า ชัดเจนว่าต้องการผลักดันเรื่อง Internet for All ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายผ่านเครือข่าย โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำได้ต้องทำให้ราคาสมาร์ทโฟนและค่าบริการถูกลงมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตราคาถูกมาก แต่ไม่ต้องเร็วที่สุด เป็นต้น
"ผู้ผลิตอินเตอร์แบรนด์จะส่งเครื่องระดับล่างลงมาแข่งขันมากขึ้น ปีหน้าราคาสมาร์ทโฟนจะเหลือแค่ 2 ช่วง คือไม่เกินหมื่นบาท กับกลุ่มบนตั้งแต่หมื่นแปดพันบาทขึ้นไป ส่วนราคาฟีเจอร์โฟนจะปรับลงมาเล็กน้อย เพราะยิ่งสมาร์ทโฟนปรับราคาลงมาใกล้เคียงฟีเจอร์โฟน แต่คงไม่ส่งผลต่อยอดขายในตลาดรวมที่น่าจะอยู่ที่20 ล้านเครื่องพอ ๆ กับปีที่แล้ว แต่สัดส่วนจะเปลี่ยนไปจากสมาร์ทโฟนกับฟีเจอร์โฟนเท่า ๆ กัน เป็นสมาร์ทโฟน 60-70% ที่เหลือเป็นฟีเจอร์โฟน"
ลุ้น "สมาร์ทโฟน" ราคาพันบาท
และคาดว่าคงได้เห็นสมาร์ทโฟนจริง ๆ (หน้าจอทัชสกรีน) ในระดับราคา 1 พันบาทเนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทำให้ราคาสมาร์ทโฟนถูกลงอีก จากปีที่ผ่านมาราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 2 พันบาท และสมาร์ทโฟนที่ราคา 12,000-15,000 บาทจะหายไป โดยเครื่องในสเป็กที่ราคานั้นจะหล่นลงมาเหลือ 6,000-7,000 บาท ส่วนฟีเจอร์โฟนยังขายได้ แต่ต้องถูกจริง ๆ
"โอเปอเรเตอร์จะยังใช้วิธีให้ค่าโทร.เท่ากับค่าเครื่อง หรือลดราคาแพ็กเกจค่าบริการลง 50% เหมือนเดิม คงยังไม่ถึงกับลงไป Subsidize เครื่อง เพราะค่อนข้างเสี่ยง และไม่เหมาะกับในประเทศไทย แต่อาจมีคู่แข่งบางรายใช้กลยุทธ์นี้ก็ได้ ซึ่งดีแทคก็พร้อมสู้ เราเองจะขยับมาทำเรื่องแบรนดิ้งมากขึ้นในปีนี้ เพื่อทำให้ลูกค้ากลับมารู้สึกดี ๆ กับแบรนด์เหมือนสมัยก่อน จากที่ผ่านมาเน้นขายของ"
ปัจจุบันดีแทคมีฐานลูกค้าประมาณ 28 ล้านราย แบ่งเป็นระบบ 3G ที่ 10 ล้านรายต้น ๆ และ 2G อีก 15-17 ล้านราย คาดว่าลูกค้าที่ใช้ 2G จะย้ายมาใช้ระบบ 3G ทั้งหมดภายใน 3 ปี
ค่ายมือถือเน้นผูกแพ็กเกจ
ฟากนายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานการตลาดและการขาย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาสมาร์ทโฟนแบ่งเป็น 6 ช่วงคือกลุ่มเอนทรี่ ราคา 3-4 พันบาท (แอนดรอยด์) กลุ่มมิดโลว์เอนด์ 4-5 พันบาท, มิดเอนด์ 6-8 พันบาท, กลุ่มมิดไฮเอนด์ 8-9 พันบาท, กลุ่มไฮเอนด์ 1-1.5 หมื่นบาท และไฮเอนด์พรีเมี่ยม ราคา 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งปีนี้กลุ่มแรกราคาต่ำสุดจะเหลือ 2,000 บาท ส่วนมิดไฮเอนด์จะลงไปอีก 10% แต่ไฮเอนด์จะไม่ลด เพราะต้องรักษาภาพลักษณ์แบรนด์ และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในปีที่แล้ว คือแบรนด์อย่างซัมซุงกดราคาสินค้าลงมาต่ำกว่าเดิมพอสมควร ขณะที่โอเปอเรเตอร์พยายามกระตุ้นตลาดสมาร์ทโฟนตอบรับกับเครือข่าย 3G ที่ขยายไปทั่วประเทศ แต่ปีนี้ทั้ง 3 ค่ายคงทำตลาดอย่างเข้มข้นขึ้นอีก สำหรับเอไอเอสเน้นโปรโมตคอนเซ็ปต์เอไอเอส 3G ซูเปอร์คอมโบ เช่น ที่มีสมาร์ทโฟน "เอเซอร์" ชูโรง ทั้งมีข้อเสนอพิเศษ และทำการตลาดกับฐานลูกค้าเก่า เพื่อให้ย้ายจาก 2G ไปยัง 3G ด้วยแพ็กเกจค่าบริการราคาถูก และโปรโมชั่นคืนเงินค่าเครื่องแบบทยอยจ่ายคืนให้เป็นรายเดือน
"คนไทยนิยมซื้อสมาร์ทโฟนระดับเอนทรี่เลเวลมากสุด เพราะราคาลดลงต่อเนื่อง และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าฟีเจอร์โฟนไฮเอนด์ ส่วนเฮาส์แบรนด์ในไทยอยู่ที่การนิยาม เพราะโอเปอเรเตอร์บางรายทำมือถือเอง ตั้งชื่อเอง อาจเป็นเฮาส์แบรนด์ได้ ส่วนเฮาส์แบรนด์รายเก่าคงไม่หายไป แต่ต้องหาช่องว่างในการทำธุรกิจให้ได้ ชูจุดเด่นเรื่องการให้กำไรกับผู้ขายมากกว่า และสินค้าราคาถูกกว่าในสเป็กเครื่องระดับเดียวกับคู่แข่ง เป็นต้น"
ตลาดโต-เชนสโตร์อู้ฟู่
ขณะที่ฝั่งร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ โดยนายไพโรจน์ ถาวรสภานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด เจ้าของร้านค้าปลีกมือถือ "ทีจี โฟน" กล่าวว่า การจำหน่ายโทรศัพท์มือถือจะเข้มข้นขึ้นจากราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลงจากเดิม มาเริ่มต้นที่ 2,000 บาท หรือต่ำกว่านั้น เพราะเทคโนโลยีใหม่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่วนฟีเจอร์โฟนราคาคงยังไม่ลงมาก ขณะที่สมาร์ทฟีเจอร์โฟนจะมีราคาต่ำกว่า 1.4-1.7 พันบาท
"ฟีเจอร์โฟน 3G ขายไม่ดีนัก แม้โอเปอเรเตอร์จะพยายามทำตลาดในราคาถูกโดยผูกแพ็กเกจ แต่คนยังไม่เปลี่ยนมาใช้เท่าไร จึงเชื่อว่าปีนี้จะทำราคาถูกกว่านี้ ขณะที่ฟีเจอร์โฟนจะเหลือ 6-700 บาท ถึงจะมีคนซื้อ และสัดส่วนยอดขายสมาร์ทโฟนจะเพิ่มเป็น 70% และการ Subsidize"
สำหรับบริษัท ปีนี้จะขยายสาขาเพิ่มหลายพื้นที่ 30-50 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 180 แห่ง คาดว่าจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เน้นขยายในต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯจะเปิดในห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ และเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เช่น เครื่องเล่นไฟล์ภาพยนตร์เอชดี แอนดรอยด์,กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เป็นต้น
"รายได้เราปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 20% จากการขายสมาร์ทโฟนเกิน 70% ที่เหลือเป็นฟีเจอร์โฟน และสินค้าอื่น ๆ และตั้งเป้าว่าปีนี้จะเติบโตเท่าเดิม"
เฮาส์แบรนด์สู้ไม่ถอย
ด้านนายฑัศ เชาวนเสถียร ประธานกรรมการ บริษัท ไวร์เลส แอ๊ดวานซ์ ซิสเต็ม จำกัด เจ้าของเฮาส์แบรนด์ "จีเนท" กล่าวว่า ราคาสมาร์ทโฟนจะปรับลดลงกว่า 30% ไม่ว่าจะเป็นราคาระดับล่าง จากปกติอยู่ที่ต่ำกว่า 3,000 บาท แต่ปีนี้จะต่ำกว่า 2,000 บาท ส่วนระดับกลางที่ 5,000 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะลดลงเหลือ 3,500-10,500 บาท ส่วนระดับบนจาก 15,000 บาทขึ้นไป ลดเหลือ 10,500 บาทขึ้นไป ทำให้ตลาดรวมสมาร์ทโฟนโตขึ้นมาก เพราะผู้บริโภคทุกระดับชั้นเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้หมด เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอวสานของฟีเจอร์โฟน และจะหมดไปใน 2-3 ปี
สำหรับการแข่งขันจะดุเดือดเฉพาะตลาดระดับล่าง ทั้งอินเตอร์แบรนด์และเฮาส์แบรนด์ต่างปรับลดราคาลง และมีสินค้าระดับล่างออกมากขึ้นมากกว่าความต้องการในตลาด โดยราคาที่จะมีจำหน่ายมากที่สุดคือ 2 พันบาท ส่วนจีเนทแม้การแข่งขันจะสูง แต่เชื่อว่าจะยังครองอันดับ 5-6 ในตลาดมีส่วนแบ่งกว่า 10 % เพราะสเป็กเครื่องครบ แต่ราคาถูก อยู่ที่ 2,000-6,000 บาท
นายสุภสิทธิ์ รักกสิกร หัวหน้าคณะผู้บริหารการตลาด บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย เปิดเผยว่า พร้อมรุกตลาดเต็มตัว โดยวางโปรดักต์ไว้ 2 กลุ่ม คือพรีเมี่ยมไฮเอนด์ ราคา 9 พัน-หมื่นบาท และกลุ่มล่าง เริ่มต้นที่ 3-5 พันบาท จากเดิมเน้นพรีเมี่ยมไฮเอนด์อย่างเดียว และเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น จึงร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ทุกค่ายทำโปรโมชั่นร่วมกัน เพราะค่ายมือถือต้องการย้ายลูกค้าไปยังเครือข่ายใหม่ระบบ 3G
สำหรับตลาดรวมคาดว่าการแข่งขันจะหนักขึ้น เนื่องจากมีผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนไปใช้ 3G เต็มรูปแบบ และโอเปอเรเตอร์ต่างเร่งทำตลาดเช่นกัน ราคาสมาร์ทโฟนจะกดลงไปต่ำกว่าเดิม แบ่งกลุ่มราคาชัดเจน ต่ำสุดจะเหลือน้อยกว่า 2.5 พันบาท